เคยสงสัยไหมว่า คุณคือ Influencer? KOL? หรือ Thought Leader?
แล้ว ป้ายกำกับ เหล่านี้มีผลต่อโอกาสร่วมงานกับแบรนด์มากน้อยแค่ไหน?
เวลาเห็นคนดังในโซเชียลรีวิวของ ชวนไปเที่ยว หรือออกความเห็นอะไรสักอย่าง เรามักจะใช้คำเรียกว่า Influencer หรือย่อว่า อินฟลู รวมๆ กันไปหมด
แต่ในโลกของการตลาด เรามีคำว่า Influencer, KOL และ Thought Leader แม้ทั้ง 3 คำจะหมายถึง คนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้อื่น แต่ก็มีบทบาทต่างกัน
ลองนึกภาพดูนะคะ คุณเป็นเจ้าของร้านกาแฟ อยากให้ร้านตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้น คุณจะเลือกให้ใครช่วยโปรโมต?
- บล็อกเกอร์สายไลฟ์สไตล์ ที่มีผู้ติดตามเป็นแสน แชร์ชีวิตตัวเองผ่านรูปกาแฟสวยๆ บรรยากาศอบอุ่นของร้าน
- นักรีวิวกาแฟ ที่ลงลึกถึงรสชาติ วิธีคั่วเมล็ด แหล่งปลูกกาแฟ พร้อมคำแนะนำแบบผู้เชี่ยวชาญ
- เจ้าของโรงคั่วกาแฟ ชื่อดังที่ขึ้นเวทีสัมมนาเกี่ยวกับกาแฟอยู่บ่อยๆ
สามคนนี้ดูเผินๆ เหมือนจะช่วยให้ร้านคุณเป็นที่รู้จักได้หมด แต่พวกเขามีบทบาทต่างกันในโลกออนไลน์ กลุ่มผู้ติดตามก็แตกต่างกัน เหมาะสมกับเป้าหมายการตลาดที่ต่างกัน
มาทำความรู้จักกับแต่ละบทบาทกันค่ะ

Influencer คนที่ทำให้คนหลงรัก
คำที่พวกเราได้ยินบ่อยที่สุดอย่าง Influencer หมายถึงคนที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตามผ่านไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสายท่องเที่ยว แฟชั่น หรือไลฟ์สไตล์ทั่วไป ดึงดูดผู้ติดตามให้รู้สึกใกล้ชิดและมีอารมณ์ร่วม
ตัวอย่างเช่น
- PikaPloy อินฟลูสายท่องเที่ยวที่พาไปเที่ยวในที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก
- เก๋ไก๋สไลเดอร์ ที่สร้างความสนุกและพลังบวกผ่านวิดีโอ
- แป้ง zbing z. ยูทูบเบอร์เกมมิ่งชื่อดังที่มีกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่น
KOL คนที่ทำให้คนเชื่อมั่น
KOL (Key Opinion Leader) มีอิทธิพลต่อผู้ติดตามเช่นเดียวกับ Influencer แต่ความพิเศษคือ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (niche) ที่ทำให้พวกเขาได้รับความไว้วางใจจากผู้ติดตามที่สนใจเรื่องนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น
- เพจการตลาดวันละตอน ที่ให้ข้อมูลด้านการตลาดแบบลึกซึ้ง
- เพจ DataRockie ที่ทำให้การทำ Data Analysis เป็นเรื่องง่าย
- หมอแล็บแพนด้า ที่แชร์ความรู้ด้านสุขภาพและการแพทย์แบบสนุกๆ
Thought Leader คนที่เปลี่ยนโลก
Thought Leader ไม่ได้แค่มีความเชี่ยวชาญ แต่ยังเป็นผู้นำทางความคิด มีอิทธิพลในแวดวงนั้นๆ นักการตลาดชอบร่วมงานด้วยในแง่ของการตลาดแบบ B2B (business to business) ที่มักจะใช้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
ตัวอย่างเช่น
- ท็อป จิรายุส ที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญเรื่อง Bitcoin และ Blockchain ในไทย
- ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้นำด้านอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเสิร์ตในไทย
- ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและการตลาดญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างร้านกาแฟของคุณ ระหว่าง Influencer, KOL, หรือ Thought Leader ใครเหมาะที่สุดในการเป็นกระบอกเสียง?
คำตอบขึ้นอยู่กับ เป้าหมายการโปรโมต ของคุณ
- หากคุณต้องการโปรโมตร้านกาแฟเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่จำนวนมาก เพิ่มยอดขาย การร่วมงานกับ Influencer บล็อกเกอร์สายไลฟ์สไตล์จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะสามารถเข้าถึงผู้ติดตามจำนวนมากในไลฟ์สไตล์ที่คุณต้องการดึงดูด
- หากคุณต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของคุณ เช่น กาแฟพรีเมี่ยม การร่วมงานกับ KOL นักรีวิวกาแฟผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดลูกค้าคอกาแฟที่พร้อมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น
- หากเป้าหมายของคุณคือการยกระดับร้านให้เป็นที่รู้จักในวงการธุรกิจร้านกาแฟ หรือดึงดูดนักลงทุนและพาร์ทเนอร์ การร่วมงานกับ Thought Leader อย่างเจ้าของโรงคั่วกาแฟชื่อดัง จะทำให้ร้านของคุณมีชื่อเสียงและเป็นที่น่าเชื่อถือในแวดวงธุรกิจ
แล้วแบรนด์สนใจป้ายกำกับนี้มากน้อยแค่ไหน?
ถามว่าบทบาทของ Influencer, KOL, หรือ Thought Leader เป็นตัวกำหนดการทำงานร่วมกันกับแบรนด์มากแค่ไหน?
ต้องบอกตรงๆ ว่า (ในส่วนใหญ่) ก็ไม่ค่อยนะคะ
เราไม่เคยนั่งประชุมกันว่า “แคมเปญนี้ควรจะร่วมงานกับ KOL หรือ Influencer ดี?”
สิ่งที่ทีมการตลาดคุยกันมากกว่าคือ กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร และคุณมีอิทธิพลกับกลุ่มนั้นได้มากน้อยแค่ไหน?
หลายแคมเปญมักเลือกที่จะร่วมงานกับทั้ง Influencer และ KOL ไปพร้อมๆ กัน เพราะพวกเขามีฐานผู้ติดตามที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ
บางคนก็สามารถเป็นได้ทั้ง Influencer และ KOL ในคนเดียว อย่างเช่น นายอาร์ม เจ้าชายไอที ที่เป็น KOL ด้านโปรแกรมมิ่งไอที ซึ่งหลายคนจะนึกถึงเขาเป็นคนแรกๆ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ขณะเดียวกันเขาก็ทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์และขายของที่แฟนคลับต่างก็สนับสนุนเต็มที่ จึงถือว่าเป็น Influencer เช่นกัน
ถ้าอยากร่วมงานกับแบรนด์ ต้องเป็นอะไรดี?
แม้ว่าทีมการตลาดอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำเรียกเหล่านี้มากนัก แต่สำหรับคุณ การกำหนดตัวตนให้ชัดเจนก็มีผลต่อ โอกาสร่วมงาน และ มูลค่าของตัวเอง กับแบรนด์ไม่น้อยเลยค่ะ
ถ้าคุณอยากเป็น Influencer คุณต้องสร้างฐานผู้ติดตามที่รักและสนับสนุนคุณ ถ้ามีผู้ติดตามประมาณ 10,000 คนขึ้นไป คุณก็จะเริ่มเป็นที่สนใจของแบรนด์ในฐานะอินฟลู
งานของ Influencer มักจะมีมากมายและหลากหลายวงการ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าการแข่งขันสูงและค่าตัวอาจไม่ได้สูงมากนักเสมอไป ขึ้นอยู่กับฐานผู้ติดตามของคุณ
ถ้าคุณอยากเป็น KOL คุณต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง สามารถเล่าเรื่องและแบ่งปันความรู้ให้เข้าใจง่าย และไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามจำนวนมาก แค่หลักพันก็เพียงพอสำหรับแบรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มเฉพาะทาง
ค่าตัวของ KOL มักจะสูงกว่า Influencer เพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเฉพาะทางที่แบรนด์ต้องการและไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้
ถ้าคุณอยากเป็น Thought Leader คุณต้องมีประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการของตัวเองได้จริง
แม้จำนวนงานของ Thought Leader อาจจะไม่เยอะเท่า Influencer หรือ KOL แต่ค่าตัวของ Thought Leader จะสูงกว่ามาก และแบรนด์ก็ยินดีจ่าย เพราะคนเหล่านี้หาได้ยากและมีอิทธิพลทางธุรกิจที่สูงมาก
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะเลือกเป็น Influencer, KOL, หรือ Thought Leader สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณสามารถสร้างอิทธิพลกับผู้ติดตามได้แค่ไหน
หากคุณสร้างตัวตนให้ชัดเจน โอกาสดีๆ ก็จะตามมาเอง