แบรนด์เลือกอินฟลูเอนเซอร์กันยังไง? (และทำยังไงให้แบรนด์เลือกคุณ)

คุณเองก็เป็นได้นะ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่แบรนด์อยากร่วมงานด้วยน่ะ แม้จำนวนผู้ติดตามจะไม่มาก ขอแค่คุณมีสิ่งที่แบรนด์มองหา

ในฐานะนักการตลาดที่ต้องเลือกอินฟลูเอนเซอร์จากลิสต์ยาวเหยียด การตัดสินใจเลือกแค่ไม่กี่คนนั่นไม่ง่ายเลย

วันนี้เลยอยากแชร์มุมมองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายแคมเปญ​ ร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์มากว่า 100 คนว่า

  • ทำยังไงให้แบรนด์เห็นคุณ?
  • ทำยังไงแบรนด์เลือกคุณ?
  • และทำยังไงให้แบรนด์กลับมาเลือกคุณซ้ำ?

เพื่อความสะดวก เราขอเรียก คนที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตาม ซึ่งรวมไปถึง KOL และ Thought Leader แบบรวมๆ ว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ทั้งหมด

หากคุณอยากรู้ลึกขึ้นว่า คำเรียกเหล่านี้ต่างกันอย่างไร และมีผลต่อโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ไหม อ่านเพิ่มเติมได้ที่: คุณคือ KOL? Influencer? Thought Leader?

ทำยังไงให้แบรนด์เห็นคุณ?

ก่อนอื่น ขอเล่ากระบวนการทำแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์ สนุกๆ ให้ฟังกันค่ะ

ทีมการตลาดของแบรนด์มักจะชอบใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างกระแส เพื่อดันยอดขายช่วงแคมเปญ โปรโมตสินค้าให้เป็นที่รู้จัก หรือกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายทำสิ่งที่แบรนด์ต้องการ เช่น กดติดตามช่องทางออนไลน์ หรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ

ก่อนเริ่มงาน ทีมการตลาดจะต้องบรีฟกันก่อนว่า

  • เป้าหมายของแคมเปญคืออะไร
  • กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร ใช้โซเชียลแพลตฟอร์มไหน
  • ผลิตภัณฑ์ที่อยากให้โปรโมตเป็นแบบไหน
  • อยากได้คอนเทนต์สไตล์ไหน

จากนั้นจึงเริ่มค้นหาอินฟลูเอนเซอร์ที่ ตรงบรีฟ โดยทั่วไปทีมการตลาดจะหาคุณเจอจาก 3 วิธี

1. ผ่านเอนเจนซี

วิธีเร็วและมีโอกาสให้แบรนด์เห็นคุณมากที่สุดคือ การอยู่ในพอร์ตของเอเจนซี เพราะแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีงบเยอะ มักจะให้เอเจนซีช่วยคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ตามบรีฟ

ข้อดีของการอยู่กับเอเจนซีคือ พวกเขาดูแลแบรนด์หลายเจ้า หมายความว่าคุณมีโอกาสได้งานจากหลายแบรนด์ในคราวเดียว อีกทั้งเอเจนซียังช่วยดูแลเรื่องการคิดงาน ปรับคอนเทนต์ให้ตรงกับแนวทางของแบรนด์ ทำให้การดีลงานราบรื่นขึ้น

แพลตฟอร์มเอเจนซีเจ้าดังที่คุณสามารถสมัครเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้เอง เช่น Tellscore, Shout!, Kollab เป็นต้น

2. แบรนด์หาอินฟลูฯ เอง

บางแบรนด์ที่มีทีมดูแลอินฟลูเอนเซอร์ของตัวเอง มักจะค้นหาอินฟลูเอนเซอร์จากโซเชียลมีเดียโดยตรง โดยค้นหาผ่านคีย์เวิร์ดบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น

  • แคมเปญอาหาร: รีวิวของกิน, รีวิวร้านอาหาร
  • แคมเปญบิวตี้: แต่งหน้าสายฝอ, รีวิวเครื่องสำอาง
  • แคมเปญรีวิวสินค้า: แกะกล่อง, รีวิวสินค้า

หากต้องการให้แบรนด์เจอคุณ ต้องทำให้คอนเทนต์ของคุณติดอันดับต้นๆ เวลาค้นหาบนแพลตฟอร์ม โดยใช้ คีย์เวิร์ด หรือ แฮชแท็ก ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงนั้นๆ และกระตุ้นให้เกิด Engagement (คอมเมนต์, ยอดแชร์)

3. อินฟลูฯ เสนอตัวเอง

บางครั้งแบรนด์ก็มาเจออินฟลูเอนเซอร์จากการ แนะนำตัว มาหาแบรนด์เอง เช่น 

  • ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ แล้วแท็กช่องทางของแบรนด์บ่อยๆ
  • ส่งอีเมลแนะนำตัว พร้อมแนบพอร์ตโฟลิโอและเรทราคา

เชื่อเถอะว่า ทีมการตลาดเห็นและจะเก็บข้อมูลคุณไว้ เมื่อมีแคมเปญที่เหมาะสมกับคุณ ก็จะติดต่อกลับมา

วิธีเช็คมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหลอกอินฟลูฯ

สิ่งหนึ่งที่คุณควรทำทุกครั้งคือ ตรวจสอบว่าคนที่ติดต่องานคุณมา เขามาอย่างเป็นมิตร หรือเป็นมิจ

เพื่อนๆ อินฟลูฯ ของเราหลายคนเคยสูญเสียเงินหลักหมื่นถึงหลักแสนมาแล้ว! ไม่ว่าจะจากการหลอกให้โอนเงินเพื่อปลดล็อกการรับงานบนแอป หรือหลอกให้ทำงานฟรี เอางานไปขายแบรนด์จนได้เงิน แล้วเบี้ยวไม่โอนเงินให้อินฟลูเอนเซอร์

ดังนั้น หากคุณได้รับการติดต่องานจากคนที่ไม่รู้จัก แนะนำให้ตรวจสอบด้วยวิธีนี้

  1. ตรวจสอบแอคเคาท์ของผู้ติดต่องาน คนทำงานจริงมักใช้อีเมลบริษัท หรือแจ้งข้อมูลที่ตรวจสอบได้ เช่น ชื่อ-นามสกุลจริง ตำแหน่งงาน 
  2. เช็กข้อมูลกับบริษัทโดยตรง ทักไปสอบถามกับบริษัทผ่านช่องทางทางการ เช่น อีเมล เพื่อยืนยันว่าโปรเจกต์นี้มีอยู่จริง และผู้ที่ติดต่อมาเป็นคนจากบริษัทจริงหรือไม่

ไม่ต้องห่วงว่าจะดูเสียมารยาทที่เอาข้อมูลทีมงานไปตรวจสอบ เพราะการยืนยันตัวตนเป็นเรื่องปกติในวงการนี้

ที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อหากถูกขอให้โอนเงินก่อน เราไม่สามารถบอกได้ว่ามีเคสไหนที่บริษัทอาจขอให้อินฟลูเอนเซอร์จ่ายเงินมัดจำมาก่อนหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ของเรา ไม่ว่าแคมเปญจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็ไม่เคยมีการขอให้อินฟลูเอนเซอร์จ่ายเงินมัดจำเพื่อรับงาน

แบรนด์หรือเอเจนซีต่างหากที่จะเป็นฝ่ายจ่ายค่าจ้าง ไม่ใช่ให้คุณจ่ายเงินเพื่อรับงาน 

ทำยังไงให้แบรนด์เลือกคุณ?

หลังจากที่ทีมงานคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ตรงบรีฟเบื้องต้นแล้ว รายชื่อทั้งหมดจะถูกจัดเก็บใน Influencer Shopping List ซึ่งปกติจะมีให้เลือกกว่าร้อยคน!

ข้อมูลใน Shopping List นี้จะประกอบไปด้วย ช่องทางที่อินฟลูเอนเซอร์มีทั้งหมด, ราคา, สโคปงานที่รับ, และตัวเลขวัดผลต่างๆ เช่น จำนวนผู้ติดตาม, Reach, Engagement รวมถึง Demographic ของผู้ติดตาม (เพศ อายุ)

ทีมงานไม่ได้รู้จักอินฟลูเอนเซอร์ทุกคนดีพอ และส่วนใหญ่ก็ไม่มีเวลาที่จะเปิดดูคอนเทนต์ให้ครบทุกคนในลิสต์ด้วย

แล้วจะทำยังไงให้คุณโดดเด่นขึ้นมาจากรายชื่อนับร้อยล่ะ?

1. Engagement & ความน่าเชื่อถือ

สิ่งแรกที่ทีมการตลาดสนใจคือ ตัวเลข ไม่ใช่ยอดผู้ติดตาม แต่เป็นยอด Reach และ Engagement Rate

  • Reach (การเข้าถึง) = มีคนเห็นคอนเทนต์คุณกี่คน
  • Engagement Rate = มีคนโต้ตอบ (คอมเมนต์ แชร์) เยอะไหม

Engagement ก็ไม่ใช่แค่กดรีแอคชั่น แต่เป็นคอมเมนต์หรือแชร์ ที่บอกได้ว่าคนสนใจคอนเทนต์ของคุณขนาดไหน

ดังนั้นเวลาทำคอนเทนต์ ลองกระตุ้นให้คนมาคอมเมนต์ ให้เกิดบทสนทนาในโพสต์ ทำให้คนอยากแชร์

แต่อย่าหาทำกับวิธีปั่นยอดแบบสแปม เช่น จ้างคนมาคอมเมนต์หรือกดแชร์ ทีมงานจะเช็กเสมอว่า Engagement นั้น ‘ของจริง’ หรือเปล่า แล้วเมื่อไหร่ที่เจอว่า ‘ดูปลอม’ ก็จะตัดออกจากตัวเลือกทันที

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากแคมเปญจบแล้ว เอเจนซีก็ส่งรายงานแคมเปญมาให้ทีมของเราดู ซึ่งตัวเลข Engagement ยอดคอมเมนต์ ยอดแชร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก คอมเมนต์ที่ส่งมาให้ดูก็มีแต่เชิงบวก

พอทีมของเราลองไล่เช็กโพสต์ของอินฟลูฯ แต่ละคน ปรากฎว่า ดูออกเลยว่าเป็นคนที่ถูกจ้างมา

สุดท้ายเอเจนซีก็ยอมรับว่ามีการจ้างคนมาปั่นยอดจริง ข้อมูล Engagement ระหว่างกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ กับคนที่ถูกจ้างมาปั่นยอด ปะปนกันมั่วไปหมด จนข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ

แน่นอนว่า นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ทีมของเราร่วมงานกับเอเจนซีเจ้านั้น

2. คอนเทนต์และโปรไฟล์ของคุณ

สิ่งต่อไปที่ทีมงานสนใจคือ คอนเทนต์ของคุณเข้ากับแคมเปญของแบรนด์ไหม? และ โปรไฟล์ของเพจคุณเป็นยังไง? เช่น

  • กลุ่มผู้ติดตามของคุณเป็นใคร? (เพศ, อายุ, ไลฟ์สไตล์) 
  • คุณทำคอนเทนต์แนวไหนบ้าง? (พูดหน้ากล้อง, ภาพกราฟิก, วิดีโอ, เขียนรีวิว ฯลฯ)
  • คุณใช้แพลตฟอร์มไหนบ้าง? (Instagram, TikTok, YouTube, Blog ฯลฯ)

หากคุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ แนะนำว่า อย่าเพิ่งรีวิวทุกอย่างแบบกระจัดกระจาย ลองโฟกัสที่สิ่งที่คุณถนัดและสร้างตัวตนให้ชัดเจนก่อน เพราะแบรนด์มักเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคาแรคเตอร์และฐานผู้ติดตามที่ชัดเจน

ถ้าคุณสามารถทำคอนเทนต์ได้หลายรูปแบบ เช่น รีวิวเป็นบทความก็ดี พูดหน้ากล้องก็ได้ หรือทำวิดีโอสั้นลงหลายแพลตฟอร์ม นั่นคือข้อได้เปรียบ เพราะแบรนด์จะมองว่าการทำงานกับคุณสามารถต่อยอดไปยังหลายช่องทางได้

3. ราคาของคุณคุ้มค่าไหม?

สำหรับแบรนด์แล้ว ค่าตัวอินฟลูเอนเซอร์ไม่มีคำว่าถูกหรือแพง มีแต่ ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ 

บางคนค่าคอนเทนต์หลักพัน แต่ไม่มีผลลัพธ์อะไรกลับมาเลย ก็ถือว่าแพง บางคนค่าคอนเทนต์หลักแสน แต่สร้างยอดขายหรือกระแสได้มากกว่าต้นทุนหลายเท่า ก็ถือว่าคุ้ม

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าควรตั้งราคาอย่างไร อาจลองดูราคา ค่าเฉลี่ยตลาด ในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามระดับเดียวกัน โดยคำนวณ Cost per Follower (CPF) และ Cost per Engagement (CPE)

สมมติว่ามีอินฟลูเอนเซอร์สองคนที่เสนอค่าตัวต่างกัน

อินฟลูเอนเซอร์ราคาผู้ติดตามEngagement ต่อโพสต์
A100,000500,00010,000
B10,00020,000800

ลองคำนวณง่ายๆ

  • Cost per follower (ค่าใช้จ่ายต่อ 1 ผู้ติดตาม)
    • A = 100,000 ÷ 500,000 = 0.2 บาท
    • B = 10,000 ÷ 20,000 = 0.5 บาท
  • Cost per engagement (ค่าใช้จ่ายต่อ 1 การมีส่วนร่วม)
    • A = 100,000 ÷ 10,000 = 10 บาท
    • B = 10,000 ÷ 800 = 12.5 บาท

แม้อินฟลูฯ A จะมีค่าตัวแพงกว่า 10 เท่า แต่ CPF และ CPE ถูกกว่า ซึ่งหมายความว่า อินฟลูฯ A อาจจะคุ้มค่ากว่าสำหรับแบรนด์

4. คอนเทนต์ต้องห้ามสำหรับแบรนด์

ทุกวันนี้ดราม่าเกิดขึ้นได้ง่ายมาก แบรนด์จึงมีกฎที่เรียกว่า Brand Safety หรือ นโยบายความปลอดภัยของแบรนด์ เพื่อคัดกรองอินฟลูเอนเซอร์ที่อาจสร้างความเสี่ยงให้กับภาพลักษณ์ของแบรนด์

อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์เหล่านี้ จึงเป็นคนที่แบรนด์มักจะขอเลี่ยงไว้ก่อน

  1. คอนเทนต์ 18+ หรือรุนแรง: เนื้อหาที่เกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน ความรุนแรง หรือภาพล่อแหลมเกินไป
  2. การกลั่นแกล้ง (Bullying) และ Hate Speech: การใช้คำพูดเหยียดหยาม ดูถูก หรือสร้างความเกลียดชัง แม้จะเป็นมุกตลกหรือเสียดสี ถ้ามีโอกาสถูกตีความผิด แบรนด์ขอเลี่ยงไว้ก่อน
  3. ดราม่าทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยง: แบรนด์ส่วนใหญ่ต้องรักษาภาพลักษณ์ที่เป็นกลาง เพราะลูกค้ามีหลากหลายมุมมอง แม้แต่คนในองค์กรก็ยังมองต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าแบรนด์จะเลือกแต่คนที่ไม่สนใจการเมือง แต่ขอเป็นคนที่สื่อสารอย่างเหมาะสม เสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งให้น้อยที่สุด

บางคนอาจมองว่าแบรนด์ ‘ใจไม่ถึงเลย’ แต่ต้องเข้าใจว่า ถ้าเกิดดราม่า คนแรกที่เตรียมเก็บกระเป๋าคืนคอมได้เลยคือ ทีมการตลาดที่จ้างอินฟลูฯ ตามมาด้วยเอเจนซี่ที่ดูแลงาน อาจถูกยกเลิกโปรเจกต์ทั้งหมด (เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คุณคิด)

อีกหนึ่งเรื่องที่อินฟลูเอนเซอร์มักมองข้ามคือ การโปรโมทคู่แข่งติดกันเกินไป (ภายใน 3-6 เดือน)

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเพิ่งรีวิว Grab Food ไปเมื่อเดือนที่แล้ว แล้วเดือนนี้โปรโมท LINE MAN เดือนถัดไปพูดถึง Food Panda คนดูจะเชื่อถือคุณน้อยลง เพราะดูเหมือนแค่รับเงินรีวิว ไม่ได้ชอบแบรนด์ไหนจริงๆ

แบรนด์หลายเจ้าจึงมีกฎว่า จะไม่เลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เพิ่งรีวิวคู่แข่งไปในระยะ 3-6 เดือน

ถ้าคุณมีแบรนด์โปรดที่อยากทำงานด้วย ก็ระวังเรื่องการโปรโมทคู่แข่งของแบรนด์นั้นไว้ด้วยนะ

5. ความเป็นมืออาชีพ

นอกจากคอนเทนต์ที่ดี โปรไฟล์ที่โดดเด่น ความเป็นมืออาชีพ คืออีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์อยากร่วมงานด้วย โดยประเมินจากเงื่อนไขการทำงานที่คุณส่งมา เช่น ระยะเวลาการส่งงาน เงื่อนไขการแก้งาน หรือการติดต่อคุยงาน

อินฟลูเอนเซอร์ที่คุยงานง่าย ตอบแชทไว และสามารถส่งงานได้ตรงเวลา มักจะถูกเลือกก่อนเสมอ เพราะช่วยให้การทำงานราบรื่น สบายใจทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าแค่เริ่มบรีฟงานก็คุยยากแล้ว อยู่ดีๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ~ แบรนด์ก็มักจะไม่เลือก ต่อให้โปรไฟล์ดีแค่ไหน เพราะเดาได้เลยว่าการทำงานจริงคงไม่ง่ายแน่

ทำยังไงให้แบรนด์กลับมาเลือกคุณซ้ำ?

ในบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่เราเคยร่วมงาน ส่วนใหญ่จะร่วมงานกันเพียงครั้งเดียว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ร่วมงานกันต่อเนื่องเป็นปี ป้อนงานให้ทุกเดือน 

สิ่งแรกที่ทีมการตลาดให้ความสำคัญคือ ความคุ้มค่า หรือ ROI (Return on Investment) จากผลงานของคุณ ซึ่งขึ้นอยู่กับเป้าหมายแคมเปญ เช่น

  • โพสต์ของคุณช่วยเพิ่มยอดขายได้หรือไม่?
  • คนดูรู้สึกเชื่อมั่นและสนใจสินค้าหลังจากดูคอนเทนต์หรือเปล่า?
  • Engagement ดีไหม? คนมาคอมเมนต์มาก หรือแค่เลื่อนผ่าน?

หากคอนเทนต์ของคุณช่วยให้แบรนด์ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แน่นอนว่าแบรนด์ก็จะกลับมาหาคุณเอง

เราเคยร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งที่อัพราคาค่าตัวจากหลัก 7,000 บาท กลายเป็น 35,000 บาท ในเวลาไม่กี่เดือน ถึงราคาจะขึ้น 5 เท่า แต่แบรนด์ก็แฮปปี้ที่จะจ่าย เพราะผลตอบแทนที่ได้จากอินฟลูฯ คนนั้นคุ้มค่า

ดังนั้น ก่อนเริ่มงาน คุณสามารถสอบถามถึงเป้าหมายของแบรนด์ก่อนได้ เช่น

  • แบรนด์ต้องการวัดผลจากอะไร? ยอดวิว, ยอด Engagement, หรือยอดขาย?
  • กลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการเข้าถึงคือใคร?
  • มีจุดเด่นของสินค้าที่อยากให้เน้นเป็นพิเศษไหม?

คำถามเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คุณไม่ได้มองตัวเองแค่เป็นเครื่องมือในการโฆษณา แต่เป็นพาร์ตเนอร์ที่พร้อมจะร่วมมือกับแบรนด์เพื่อทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

แต่โลกของการตลาดไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้นเสมอไป บางครั้งคอนเทนต์ดี Engagement ดี แต่ยอดขายไม่ดีก็มี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โปรโมชั่นไม่น่าสนใจพอ, กลุ่มเป้าหมายไม่ตรง, หรือการแข่งขันสูง คุณในฐานะอินฟลูเอนเซอร์อาจจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ไม่ได้

แต่สิ่งที่คุณควบคุมได้คือ บริการ และ ความเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เราเคยร่วมงานกับอินฟลูฯ ท่องเที่ยวหน้าใหม่คนหนึ่ง ตอนนั้นเขามีผู้ติดตามบน Facebook หลักหมื่น เราให้เขา Tie-in แบรนด์ในโพสต์ท่องเที่ยวเพื่อหาลูกค้าใหม่

ปรากฎว่า เขาไม่ได้แค่รอรับบรีฟ แต่เสนอไอเดียกลับมาที่ช่วยให้โปรโมตแบรนด์ได้มากที่สุด เช่น เพิ่มรีวิวเที่ยวใน Pantip และช่องทางอื่นๆ ที่เขาเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย ทำให้รู้สึกว่าเราได้มากกว่าที่คาดหวัง

อีกสิ่งที่ประทับใจคือ บริการหลังการโพสต์ เขาคอยตอบคอมเมนต์ที่เกี่ยวกับแบรนด์ ช่วยเชียร์ขายของประหนึ่งเป็นคนในบริษัท บางคำถามที่ตอบไม่ได้ ก็ทักมาถามเรา แถมยังสรุปฟีดแบ็คจากคอมเมนต์ให้ว่า ผลตอบรับแคมเปญเป็นอย่างไร มีคำติชมอะไรบ้าง

หน้าที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในบรีฟ และที่จริงเป็นหน้าที่ของทีมการตลาดกับเอเจนซีเองด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่เขาทำ ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงอินฟลูฯ คนหนึ่งที่แบรนด์จ้างแล้วจบ แต่เป็นพาร์ตเนอร์ที่ใส่ใจของแบรนด์ และกลายเป็นชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึงเสมอเวลาต้องเลือกอินฟลูเอนเซอร์

ทุกวันนี้ อินฟลูฯ คนนั้นมีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคนแล้ว และได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังอยู่บ่อยๆ

วิธีเพิ่มโอกาสรับงานของอินฟลูฯ หน้าใหม่

1. ทำคอนเทนต์ให้เห็น

ไม่จำเป็นต้องรอให้มีสปอนเซอร์จริงๆ ก่อน คุณสามารถสร้างคอนเทนต์ที่รีวิวจริงๆ เองได้ เพื่อให้แบรนด์เห็นภาพว่าถ้าร่วมงานกับคุณแล้ว จะได้ผลลัพธ์อย่างไร

อินฟลูเอนเซอร์ที่มีพอร์ตโฟลิโอชัดเจน จะมีโอกาสได้งานมากกว่า เพราะแบรนด์จะเห็นสไตล์งานและผลงานที่ผ่านมา และมั่นใจในความสามารถของคุณ

2. มีเรทการ์ดไว้พร้อม

เรทการ์ด (Rate Card) คือเอกสารที่ระบุเรทราคา + สโคปงานของคุณ ควรประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ เช่น

  • ค่าจ้างโพสต์ ช่องทางต่างๆ (Facebook, Instagram, TikTok ฯลฯ)
  • ตัวอย่างผลงาน คอนเทนต์ที่เคยทำ
  • ตัวเลข Follower, Reach, Engagement Rate โดยเฉลี่ย
  • เงื่อนไขการทำงาน เช่น ระยะเวลาทำงาน จำนวนครั้งในการแก้งาน

ถ้าคุณมีเรทการ์ดพร้อมส่งให้คนที่ติดต่องานมาแบบทันที ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้แบรนด์ตัดสินใจง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

3. เปิด Branded Content Boosting

Influencer + Branded Content Boosting คือ กลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์มักจะใช้ควบคู่กัน โดยจ้างอินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และยิงแอดจากโพสต์ของคุณ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้น หากคุณรู้วิธีเปิดให้แบรนด์ยิงแอดจากโพสต์ของคุณได้ เช่น Facebook Ad, Instagram Ad, TikTok Ad ก็จะได้เปรียบในการรับงาน

สรุปว่า หมดยุคที่แบรนด์เลือกอินฟลูเอนเซอร์จากยอดผู้ติดตามเพียงอย่างเดียวแล้ว

ในยุคที่มีอินฟลูฯ มากมาย การเป็นตัวเลือกที่แบรนด์ไว้วางใจไม่ใช่แค่ทำตามบรีฟ แต่คือการเข้าใจเป้าหมายแคมเปญ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และมี Engagement ที่ดี พร้อมซัพพอร์ตเสมอ เมื่อนั้นคุณจะกลายเป็นพาร์ตเนอร์ที่แบรนด์อยากร่วมงานจริงๆ



Picture of Cookie

Cookie

นักการตลาดโดยอาชีพ นัก Artistic Pole & Aerialist สมัครเล่น ชอบสร้างสรรค์ digital template แจกโดยสมัครใจ และสมัครไปปีนเขาทุกปี

CREATIVE LAB

LIFE DESIGN TEMPLATES

Track your growth. Organize your mind. Design a life that works for you.

digital Notebook

Travel Planner Template

Notion Template

Wallpaper & Folder Icon

Self-design. Infinite possibilities. Spread Kindness.

คาเฟ่ดิจิทัล ☕︎ เสิร์ฟคอนเทนต์ทักษะชีวิต ปลดล็อกศักยภาพ และเครื่องมือออกแบบชีวิต ที่จะช่วยให้คุณค้นพบเป้าหมาย เป็นได้ทุกอย่างที่ใจต้องการ และใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ

© All Rights Reserved.

2020 – 2025 SIS ACADEMY | by Ponglada Niyompong

Back to top