สรุปหนังสือ 90 เทคนิค (เล็ก ๆ ง่าย ๆ) พูดกับใครก็ได้ สบายใจจัง

Readers’ Garden เล่มที่ 122

หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ทำให้ “คนคุยไม่เก่ง” รู้สึกสบายใจกับการคุย

“นึกไม่ออกว่าจะชวนคุยอะไรดี”
“พูดแล้วอีกฝ่ายไม่เข้าใจ”
“ประหม่าเกินเบอร์ทุกที”
“รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคุยไม่สนุกเลย”

ถ้าคุณอยากก้าวข้ามความอึดอัดจากการคุยไม่เก่ง หนังสือ 90 เทคนิค (เล็ก ๆ ง่าย ๆ) พูดกับใครก็ได้ สบายใจจัง เป็นคู่มือเล็กๆ ที่ควรมีไว้ติดตัวเลยค่ะ เขียนโดยคุณทาคุโร ยามากุจิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทักษะการสื่อสารแห่งญี่ปุ่น ผู้เข้าใจหัวอกคนพูดน้อยเป็นอย่างดี

เล่มนี้ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนให้คุณกลายเป็นนักพูดมืออาชีพ ไม่ได้บังคับให้คุณต้องกล้าเข้าสังคม เป็นดาวเด่นในวงสนทนา หรือทำตัวสนุกสนานอยู่ตลอดเวลา แต่ใจความสำคัญของการคุยคือ

“ไม่ต้องคุยเก่งก็ได้ แค่คุยกันได้อย่าง สบายใจ ก็เพียงพอแล้ว”

สนุกกับการคุย ไม่ใช่คุยอย่างไรให้สนุก

สิ่งหนึ่งที่คุณยามากุจิชวนให้พวกเราคิดตั้งแต่ต้นก็คือ…

“การคุยคืออะไร?”

หากไม่นับการคุยเพื่อผลประโยชน์ หรือการเจรจาทางธุรกิจ การคุยในชีวิตประจำวันนั่นมีจุดประสงค์ที่เรียบง่ายมาก มันคือ “การแลกเปลี่ยนความคิดหรือความรู้สึก เพื่อเข้าใจกัน” แค่นั้นเอง

คนที่คุยไม่เก่งมักเผลอกดดันตัวเองว่า ถ้าจะคุย ก็ต้องทำให้อีกฝ่ายสนุกสนาน หัวเราะ หรือพูดแล้วดูฉลาด มีสาระ ดังนั้นเมื่อคิดว่าตัวเองยังไม่ดีพอที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เลยเลือก ความเงียบ แทน

ทั้งที่ความจริงคือ การคุยที่ดีเริ่มต้นจากการเป็นตัวของตัวเอง

ถ้าคุณ ยอมรับตัวเอง ได้อย่างมั่นใจ คุณจะพูดคุยกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ บทสนทนาจะค่อย ๆ ลื่นไหลออกมาเอง แล้วคุณจะสนุกกับการคุย โดยไม่ต้องฝืนพยายามหากลยุทธ์ว่า คุยอย่างไรให้สนุก

ในเล่มนี้ คุณยามากุจิแบ่งปันเทคนิค 90 ข้อออกเป็นตอนสั้น ๆ อ่านจบได้ใน 1-2 นาที ที่คุณทำได้ง่าย ๆ เหมาะมากสำหรับหยิบอ่านตอนมื้อเช้า บนรถไฟฟ้า หรือในวันที่รู้สึกว่าอยากลองเริ่มต้นคุยกับใครสักคน

โดยแบ่งเทคนิคออกเป็น 3 หมวด:

  1. จัดการความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่เก่ง
  2. เทคนิคการคุยในสถานการณ์ต่าง ๆ
  3. ปรับมุมมองใหม่ ให้การคุยคือสุดยอดวิธีพัฒนาตัวเอง

เลิกคิดว่า “เรายังไม่เก่งพอที่จะคุยกับใคร”

บางครั้งคนคุยไม่เก่งก็เลือกที่จะเงียบ ไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรจะพูด แต่เพราะกลัวว่า สิ่งที่เราพูดจะ ไม่ดีพอ ไม่น่าสนใจพอ กลัวว่าจะพูดผิด หรือกลัวว่าจะทำให้บรรยากาศกร่อย

แต่ความจริงคือ ไม่มีใครบนโลกนี้พูดได้สมบูรณ์แบบเสมอไป แม้แต่นักพูดอาชีพ ก็ยังมีวันที่พูดติดขัด 

คุณยามากุจิแนะนำให้พวกเรากลับมาที่จุดเริ่มต้นง่าย ๆ คือ เลิกคาดหวังว่าต้องพูดเก่ง และเริ่มต้นจากแค่ เป็นตัวเอง และตั้งใจฟัง

ไม่จำเป็นต้องมีคำพูดสวยหรู ไม่ต้องพูดให้ใครประทับใจ แค่พูดจากใจ ขอแค่เข้าใจกันก็พอ

ประเด็นนี้ทำให้เรานึกถึงรายการ Mind Your Manners ของ Sara Jane Ho ทาง NETFLIX ซึ่งซารากล่าวไว้ว่า

“มารยาทไม่ใช่การใช้ช้อนส้อมให้ถูกต้อง แต่คือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสบายใจต่างหาก

การคุยก็เช่นกัน จะทำยังไงให้ทั้งเราและเขาคุยกันได้อย่างสบายใจ

มีหลายสิบแนวคิดที่คุณยามากุจิยกตัวอย่างไว้ในหนังสือ เช่น

  • กังวลว่าตัวเอง คุยไม่เก่ง → ไม่ต้องคุยเก่งก็ได้ แค่คุยแล้วเข้าใจกันก็พอ
  • ไม่สนุกกับการคุย → ไม่ต้องกังวลว่าคุยอย่างไรให้สนุก แค่เป็นตัวของตัวเองก็พอ
  • ไม่รู้จะเริ่มคุยยังไง → ลองเลียนแบบคนที่คุยเก่งดู อาจเป็นคนที่คุณรู้จัก หรือวิธีการชวนคุยของพิธีกรชื่อดัง อาจฟังย้อนแย้งกับการเป็นตัวของตัวเอง แต่บางครั้งการเรียนรู้จากคนอื่น ก็ช่วยให้คุณมีจุดเริ่มต้น
  • กลัวคนที่คุยด้วย → ให้เกียรติคนอื่นแบบพอเป็นพิธี บางครั้งคุณอาจประหม่าเพราะรู้สึกว่าคู่สนทนาเก่งกว่าคุณ แต่จริง ๆ แล้ว พวกเราทุกคนก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ๆ เหมือนกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งลดคุณค่าของตัวเอง และอย่ากลัวที่จะเป็นตัวเอง


เทคนิคการคุยง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

การคุยก็เป็นทักษะหนึ่งที่คุณฝึกฝนได้ เหมือนกับการขี่จักรยาน วาดรูป หรือออกกำลังกาย ยิ่งคุณคุยมากเท่าไหร่ ยิ่งคุ้นปากและมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น

หากย้อนกลับไปช่วงล็อกดาวน์ คุณเคยรู้สึกไหมว่าหลังกลับมาเจอคนอื่นอีกทีแล้วพูดไม่ค่อยคล่อง? เพราะช่วงล็อกดาวน์แทบไม่ได้พูดคุยกับใครแบบต่อหน้าเลย สื่อสารกันด้วยแชต ส่งสติกเกอร์แทนคำพูด พอกลับมาคุยด้วยเสียงจริง ๆ อีกครั้ง จึงพูดผิด ๆ ถูก ๆ ลิ้นพันกัน แบบไม่คุ้นเคยเลยทีเดียว

ดังนั้นทักษะการคุยจึงไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์เสมอไป แต่คือกล้ามเนื้อที่ฝึกได้

หากคุณอยากจะฝึกฝนทักษะการคุย คุณยามากุจิแนะนำให้มีชุดคำพูดติดตัวไว้สำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยลดความประหม่า และทำให้คุณคุยได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

1. แนะนำตัวแบบสบาย ๆ

การแนะนำตัวเป็นก้าวแรกในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ บางคนอาจจะรู้สึกกดดันว่าจะต้องสร้างความประทับใจแรกพบ แต่คุณยามากุจิอยากให้มองว่า…

การแนะนำตัวคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานกันแบบสบาย ๆ มากกว่าการพยายามขายตัวเองให้ดูดี

หากคุณไม่รู้ว่าจะแนะนำอะไร ลองเริ่มจากโครงสร้างแนะนำตัวพื้นฐานคือ ชื่อ + อาชีพ + งานอดิเรกเล็กน้อย เช่น “สวัสดีค่ะ เราชื่อเจน ตอนนี้ทำงานด้านการตลาด แล้วก็ชอบดูหนังญี่ปุ่นกับไปเดินเล่นตามร้านหนังสือค่ะ :)”

การใส่ความชอบ หรือสิ่งที่ตื่นเต้นลงไปเล็กน้อย จะทำให้บทสนทนาจากแค่แนะนำตัว กลายเป็น โอกาสทำความรู้จักกัน อย่างเป็นธรรมชาติ 

ขณะเดียวกัน เมื่ออีกฝ่ายแนะนำตัว คุณอาจลองใช้คำถามง่าย ๆ ช่วยต่อบทสนทนา เช่น:

  • “คุณล่ะคะ ปกติชอบทำอะไรยามว่าง?”
  • “ทำไมถึงชอบไปปีนเขาหรอคะ?”
  • “มีคำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มปีนเขาไหมคะ?”

นอกจากนี้ คุณสามารถปรับคำแนะนำตัวให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น

  • ไปเที่ยวต่างประเทศ: ชื่อ + ประเทศที่มาจาก + สิ่งที่รู้สึกตื่นเต้น เช่น “คอนนิจิวะ! (ใช้คำสวัสดีของประเทศนั้นเพื่อเพิ่มความใส่ใจ) เราชื่อพลอย มาจากประเทศไทยค่ะ ตื่นเต้นมากเลยที่จะได้ไปดูภูเขาไฟฟูจิเป็นครั้งแรก!”
  • เจอพาร์ทเนอร์ธุรกิจ: ชื่อ + ตำแหน่ง + หน้าที่งาน เช่น “สวัสดีค่ะ เราชื่อพิมนะคะ เป็น Marketing Lead ดูแลฝั่งแคมเปญในไทยค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ”
  • ทำความรู้จักคนแปลกหน้าในงานอีเวนต์: ชื่อ + ความสนใจเกี่ยวกับอีเวนต์นั้น เช่น “สวัสดีค่ะ เราชื่อเตยค่ะ ชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก เลยตั้งใจมาอีเวนต์นี้เลยค่ะ คุณล่ะคะ มาครั้งแรกเหมือนกันไหม?”

2. คุยเล่นกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน

ถ้าคุณเป็นคนคุยไม่เก่ง เราเดาว่าคุณอาจไม่ค่อยชอบการ Small Talk เหมือนกันใช่ไหมคะ?

เราก็เคยเป็นแบบนั้น ไม่ชอบการคุยเล่นที่เป็นไปตามมารยาท ไม่มีเนื้อหาสำคัญ และไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่

จนเมื่อถึงวัยทำงานที่ได้พบเจอกับคนใหม่ ๆ ต่างพื้นหลัง ต่างวัย ต่างเชื้อชาติ ในทุก ๆ วัน เราถึงได้เรียนรู้ว่า คนเราไม่เหมือนกัน และความแตกต่างนั่นคือเสน่ห์ของมนุษย์

บางคนชอบ Deep Talk บางคนแค่ต้องการ Small Talk เพื่อสร้างบรรยาการที่เป็นมิตร สิ่งสำคัญคือ ความสบายใจที่เกิดขึ้นระหว่างการคุย ต่างหาก

หัวข้อ Small Talk เบา ๆ และปลอดภัยสำหรับใช้ละลายกำแพงได้ เช่น

  • สภาพอากาศ: “ฝนตกอีกแล้ว เดินทางมายากไหมคะ?”
  • ข่าวบ้านเมืองแบบไม่ดราม่า: “เห็นข่าวร้านคาเฟ่เปิดใหม่มั้ย? คิวยาวมากจนอยากไปลองชิมบ้างจัง”
  • หนัง ซีรีส์ ท่องเที่ยว: “เพิ่งดูเรื่อง OOO จบ สนุกมากเลย เคยดูไหมคะ? หรือปกติชอบดูซีรีส์แนวไหนหรอ?”

ไม่จำเป็นต้องคุยนาน ขอแค่เปิดบทสนทนา และแสดงความสนใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดก็พอแล้ว



3. คุยระหว่างมื้ออาหาร

ช่วงกินข้าว หลายคนรู้สึกเงียบ ๆ เพราะไม่รู้จะพูดอะไร วิธีง่ายที่สุด คือเริ่มจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น

  • “ว้าว! ร้านนี้ตกแต่งสวยจังเลย เคยมาร้านนี้มาก่อนไหมคะ?”
  • “รสชาติเผ็ดไปหน่อย แต่อร่อยดีนะ ปกติทานเผ็ดได้ไหม?”
  • “เมนูนี้อร่อยมาก เคยลองทานที่ไหนอีกไหมคะ?”

ถ้าคุณไม่ถนัดเป็นคนเริ่มเรื่อง ก็ไม่เป็นไรเลย แค่ตั้งใจฟัง และชวนคุยต่อด้วยคำถามอย่าง

  • “จริงเหรอคะ แล้วหลังจากนั้นล่ะ?”
  • “ฟังดูน่าสนใจมากเลย แล้วคุณรู้สึกยังไงตอนนั้น?”

คำถามแบบนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณใส่ใจ และอยากเล่าอะไรให้ฟังต่ออย่างเป็นธรรมชาติ

4. ขอความช่วยเหลือแบบนุ่มนวล

หากคุณรู้สึกเกรงใจเวลาที่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ความจริงคือ คนเราชอบความรู้สึกที่ว่าตัวเองมีคุณค่า จึงรู้สึกดีเสมอ เวลามีใครมาขอให้ช่วย โดยเฉพาะเมื่อการขอนั้นไม่เหลือบ่ากว่าแรง และมีการ ให้คุณค่า ซ่อนอยู่ในคำพูด เช่น

  1. คำขอแบบที่ 1 : “ช่วยทำแบนเนอร์ให้อีกครั้งนะครับ”
  2. คำขอแบบที่ 2: “แบนเนอร์ที่คุณช่วยออกแบบให้ครั้งก่อน ทำให้สินค้าขายดีมากเลยค่ะ คราวนี้ก็ขอรบกวนอีกครั้งนะคะ :)”

ถ้าเป็นคุณล่ะก็ คำขอแบบไหนที่ทำให้คุณรู้สึกดีกว่ากันคะ?

การขอความช่วยเหลือที่ดี ไม่ใช่แค่การยื่นมือขอ แต่คือ การมอบความไว้วางใจให้ใครสักคนด้วยใจจริง

หากคุณอยากมีประโยคขอความช่วยเหลือที่ฟังแล้วอบอุ่น แค่ลองใส่ คำชมจากใจ และ เหตุผลที่เลือกเขา ลงไป ประโยคขอร้องของคุณอาจจะเปลี่ยนวันทั้งวันของผู้ฟังให้สดใสขึ้นมาเลยก็ได้

นี่เป็นตัวอย่างชุดคำพูดเพียงส่วนหนึ่งจากหนังสือ คุณยามากุจิยังยกตัวอย่างไว้หลายสิบสถานการณ์ เช่น ขอโทษ, ขอบคุณ, ไกล่เกลี่ย, ประชุมงาน เป็นต้น



การคุยคือสุดยอดวิธีพัฒนาตัวเอง

เทคนิคการคุยในหมวดสุดท้ายคือ หากคุณยังรู้สึกอึดอัดกับการคุย และมองว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก อึดอัดใจ และน่ากลัว คุณยามากุจิอยากให้เรามองที่จริงแล้ว การคุยเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาตัวเองมากกว่า

เราเชื่อว่าหากคุณเข้ามาอ่านถึงตรงนี้ คุณก็คือคนที่อยากจะเติบโตและก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ซึ่งการคุยจะทำให้คุณเติบโตและเปิดโลกกว้างขึ้นได้ เพราะการคุยเป็นทักษะที่จะทำให้คุณได้เชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ทั่วโลกและเป็นทักษะที่ใครก็ฝึกได้

หลายคนรู้สึกไม่สบายใจเวลาเริ่มคุยกับใครใหม่ ๆ รู้สึกอึดอัด กลัวพูดผิด หรือกลัวอีกฝ่ายจะไม่สนใจ
แต่จริง ๆ แล้ว “การคุย” เป็นทักษะธรรมดาที่เราทุกคนฝึกได้ และเมื่อเราฝึกบ่อย ๆ มันจะกลายเป็น กุญแจสำคัญ ที่ช่วยให้เรา:

  • เข้าใจคนอื่นมากขึ้น
  • มองเห็นมุมมองใหม่ ๆ
  • และที่สำคัญที่สุด… พัฒนา “ตัวเราเอง” อย่างไม่น่าเชื่อ

คุณยามากุจิแนะนำหลายๆ สถานการณ์ฝึกไว้ดังนี้



1. เริ่มจากสถานการณ์ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

หนึ่งในสนามฝึกที่ดีและไม่กดดัน คือ เวลาซื้อของหรือกินข้าวนอกบ้าน ลองเปลี่ยนจากการสั่งของแล้วนั่งเงียบ ๆ มาเป็นการเริ่มบทสนทนาเล็ก ๆ เช่น

  • “มีเมนูไหนขายดีบ้างคะ?”
  • “ตามมาทานร้านนี้จากโซเชียลมีเดียค่ะ อยากลองชิมเลย”
  • “อยากได้เสื้อผ้าแนวเท่ ๆ แนะนำให้หน่อยได้ไหมคะ?”

นอกจากจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ แล้ว ยังได้ฝึกฟัง ฝึกถาม และเข้าใจมุมมองของมืออาชีพในแต่ละสายงานด้วย

แน่นอนว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนจะถนัดคุย หรือพร้อมให้บริการลูกค้าแบบห้าดาวเสมอ ดังนั้นถ้าการคุยไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ก็ไม่เป็นไรเลยค่ะ มันไม่ได้สะท้อนว่าคุณคุยเก่งหรือไม่เก่ง มันแค่แสดงว่ามนุษย์แต่ละคนต่างกันเท่านั้นเอง

2. ถกเถียงอย่างสร้างสรรค์

คนเรามักเติบโตจากบทสนทนาที่ ไม่เห็นด้วย มากกว่าการพยักหน้าตามกันไปทุกประโยค

เพราะการถกเถียงที่ดี ไม่ใช่การเถียงเอาชนะ แต่คือพื้นที่ให้คุณได้เปิดใจ เห็นโลกในมุมที่คุณไม่เคยคิดถึงมาก่อน

ข้อนี้ทำให้นึกถึงคลิปหนึ่งในรายการคำนี้ดี Ep.120 ที่สัมภาษณ์คุณหมอ Kevin Liu ซึ่งพูดถึงการโต้วาที (debate) ว่าเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่ทุกคนควรฝึก

ไม่ใช่เพื่อจะเอาชนะ แต่เพื่อฝึกฟังให้เข้าใจ และพูดให้ชัดเจน

คุณหมอเล่าว่า การโต้วาทีไม่ใช่แค่ช่วยให้คุณฉลาดขึ้น แต่มันคือกระบวนการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเติบโตไปด้วยกัน เพราะคุณจะได้มองเห็นเหตุผลของอีกฝั่ง รู้จักแยกแยะระหว่าง “ตัวบุคคล” กับ “ความเห็น” และสุดท้ายได้พัฒนาทั้งวิธีคิดและหัวใจของคุณเอง

3. ไปงานอีเวนต์ = โอกาสดีในการฝึกคุยกับคนใหม่

ถ้าคุณรู้สึกว่าการเริ่มบทสนทนากับคนแปลกหน้านั้นยาก ขอแนะนำให้เริ่มที่งานอีเวนต์

เลือกงานที่คุณสนใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต งานหนังสือ งานศิลปะ หรือเวิร์กช็อปสั้น ๆ เพราะที่นั่น ทุกคนมี จุดร่วมบางอย่าง กับคุณอยู่แล้ว

คุณไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเองให้กลายเป็นคนคุยเก่งในทันที แค่เริ่มจากคำถามสั้น ๆ ง่าย ๆ เช่น

  • “คุณมางานแนวนี้บ่อยไหมคะ?”
  • “คุณชอบศิลปินคนนี้เหมือนกันหรอ?”
  • “มีเวิร์กช็อปไหนแนะนำไหมคะ?”

บางคนอาจตอบแค่พอสั้น ๆ เป็นพิธีแล้วจากไป แต่บางคนอาจกลายเป็นมิตรภาพใหม่ที่งดงามในชีวิตของคุณเลยก็ได้

การคุยกับคนแปลกหน้าในงานแบบนี้มีข้อดีคือ คุณไม่ต้องแบกความคาดหวังมากมาย แค่เป็นตัวของตัวเอง พูดคุยด้วยความสนใจจริง ๆ

4. ชวนคนแปลกหน้าคุย = เริ่มจากความเชื่อใจ

การเริ่มคุยกับคนแปลกหน้า อาจฟังดูน่ากลัว แต่สิ่งที่คุณต้องมีแค่ ความไว้ใจในมนุษย์เล็กน้อย ว่าคนส่วนใหญ่ใจดีมากกว่าที่คุณคิด ลองเริ่มจากอะไรเล็ก ๆ เช่น

  • “ขอโทษนะคะ รู้ทางไปรถไฟฟ้าไหมคะ?”
  • “ขอถามได้ไหมคะ เมนูที่สั่งคืออะไรหรอคะ? น่าทานมากเลย”

คุณอาจจะเจอคนที่ไม่สะดวกคุยกลับมา ก็ไม่เป็นไรเลย มันไม่ใช่ความผิดของคุณหรือเขา มันเป็นธรรมชาติของบทสนทนา ที่มีทั้งราบรื่นและติดขัด

ตอนที่เราไปเที่ยวคนเดียว ก็มักจะเป็นฝ่ายทักคนแปลกหน้าก่อน เช่น ชวนคุยจิปาถะ ถามทาง ขอให้ช่วยถ่ายรูป ขอให้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และผลลัพธ์ก็คือ…

ราว ๆ 2 ใน 10 คนเดินหนีไปเลย (ตอนนั้นเขินอยู่เหมือนกัน)

แต่คนที่เหลือกลับตอบรับอย่างอบอุ่น เช่น คุณป้าที่สถานีรถไฟพาเราที่กำลังหลงทางไปส่งถึงป้ายรถเมล์, คุณน้าที่สวนสาธารณะถ่ายรูปสวย ๆ ให้, คู่รักชาวไต้หวันที่ให้ของฝากมา พร้อมแบ่งปันเรื่องราวฮันนิมูนน่ารัก ๆ ของพวกเขา, น้องนักเรียนญี่ปุ่นที่พูดอังกฤษไม่ได้ แต่ใช้ภาษามือบอกทางจนเข้าใจ และยังมีคนแปลกหน้าใจดีอีกหลาย ๆ คนที่ได้พูดคุยกัน

บทสนทนากับคนแปลกหน้าแสนใจดีเหล่านี้กลายเป็นความทรงจำที่อบอุ่นแบบไม่มีวันลืม

การกล้าคุยกับคนแปลกหน้า คือการฝึกตัวเองให้ออกจากคอมฟอร์ตโซน เราไม่มีทางรู้ว่าอีกฝ่ายจะตอบรับแบบไหน

แต่ถ้าแจ็กพอตเจอคนใจดีแค่ 1 คน มันก็ชดเชยทุกความเขิน ความเมิน และความลังเลที่เคยมีไปหมดเลยค่ะ

5. คุยกับคนต่างวัย = ขุมทรัพย์แห่งความเข้าใจ

บางครั้งสิ่งที่ช่วยให้คุณเข้าใจโลกมากขึ้น ไม่ใช่การอ่านหนังสือเพิ่มอีกเล่ม หรือเปิดยูทูปอีกคลิป แต่อาจมาจาก บทสนทนากับคนที่อายุห่างจากคุณ

ลองคุยกับคนรุ่นพ่อแม่ คุณอาจได้แนวคิดดี ๆ จากคนที่เคยผ่านโลกในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต

หรือลองคุยกับคนรุ่นใหม่ คุณอาจได้เห็นโลกจากสายตาที่สดใส ชัดเจน และมีพลังอย่างน่าทึ่ง

แค่เริ่มจากคำถามง่าย ๆ เช่น

  • “ตอนเด็ก ๆ คุณชอบเล่นอะไรคะ?”
  • “สมัยเรียนมีเพลงอะไรฮิตบ้างคะ?”
  • “ช่วงนี้มีเทรนด์อะไรที่กำลังมาแรงในกลุ่มเพื่อนคุณไหมคะ?”

สิ่งที่ได้ อาจไม่ใช่แค่คำตอบสั้น ๆ แต่คือ เรื่องราว ที่ซ่อนความคิด ความรู้สึก และความทรงจำเอาไว้

การคุยกับคนต่างวัย คือการฝึกใจให้ฟังด้วยความเคารพ และเปิดใจรับมุมมองที่คุณไม่เคยเห็น

⋆。☁︎。⋆。 ☾ 。⋆

ถ้าคุณยังรู้สึกอึดอัดใจเวลาต้องคุยกับใคร ไม่ว่าจะคุยกับครอบครัว ชวนลูกค้าคุยระหว่างประชุม หรือแค่เปิดบทสนทนากับเพื่อนร่วมงานตอนพักเที่ยง อย่าลืมว่า…

“การคุยที่ดี ไม่ได้แปลว่าต้องพูดเก่ง แต่คือการคุยที่สบายใจและเป็นตัวของตัวเอง”

คุณไม่จำเป็นต้องใช้คำสวยหรู ไม่ต้องมีมุกตลก ไม่ต้องรู้เรื่องไปหมด แค่ฟังด้วยใจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างให้เกียรติกัน

การคุยไม่ใช่การแข่งขัน แต่มันคือสะพานเชื่อมความเข้าใจกันและกัน ยิ่งฝึก ยิ่งลอง ยิ่งเปิดใจคุยกับคนรอบข้าง คุณจะพบว่า บทสนทนาเล็ก ๆ ก็เปลี่ยนวันที่ธรรมดาให้พิเศษขึ้นมาได้เสมอ





Picture of Cookie

Cookie

นักการตลาดโดยอาชีพ นัก Artistic Pole & Aerialist สมัครเล่น ชอบสร้างสรรค์ digital template แจกโดยสมัครใจ และสมัครไปปีนเขาทุกปี

CREATIVE LAB

LIFE DESIGN TEMPLATES

Track your growth. Organize your mind. Design a life that works for you.

digital Notebook

Travel Planner Template

Notion Template

Wallpaper & Folder Icon

Self-design. Infinite possibilities. Spread Kindness.

คาเฟ่ดิจิทัล ☕︎ เสิร์ฟคอนเทนต์ทักษะชีวิต ปลดล็อกศักยภาพ และเครื่องมือออกแบบชีวิต ที่จะช่วยให้คุณค้นพบเป้าหมาย เป็นได้ทุกอย่างที่ใจต้องการ และใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ

© All Rights Reserved.

2020 – 2025 SIS ACADEMY | by Ponglada Niyompong

Back to top