สรุปหนังสือ Works Well with Others

สรุปหนังสือ Works Well With Others: คู่มือ ‘อยู่เป็น’ ในสมรภูมิออฟฟิศ

1 Shares
0
0
1
0
0

#ReadersGarden no.100

ไม่รู้จะวางตัวในที่ทำงานยังไง? ไม่รู้จะทักเพื่อนร่วมงานที่ไม่สนิทในลิฟต์ว่าอะไร? ไม่รู้จะคุยอะไรระหว่างมื้ออาหารทางธุรกิจ? แล้วเราควรทำท่ากระตือรือร้นขอจ่ายเงินไหมนะ?

แด่ชาวออฟฟิศที่ไม่รู้ว่าควรวางตัวอย่างไร คิดว่าตัวเองเป็น ‘จอมหลอกลวง’ หรือมีอาการ imposter syndrome มองว่าตัวเองไม่คู่ควรทำงานที่นี่ เล่มนี้คือคู่มือการเอาตัวรอดและรุ่งเรืองของคุณค่ะ

หนังสือ Works well with others เมื่อผมใช้จิตวิทยาเอาตัวรอด(และรุ่งเรือง)ในสมรภูมิออฟฟิศ (ชื่อไทยยาวมาก แต่ตรงประเด็นเป๊ะ) เป็นคู่มือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยวิธีวางตัวและมารยาท หรือ ‘อยู่เป็น’ ซึ่งสำคัญไม่แพ้กับความสามารถในการทำงานเลย เพราะมันช่วยให้คุณและคนอื่นทำงานร่วมกันอย่างสบายใจ

  • หากคุณมีความสามารถและอยู่เป็น คุณยิ่งโดดเด่น
  • หากคุณมีความสามารถแต่อยู่ไม่เป็น คุณยังปลอดภัย
  • หากคุณไม่มีความสามารถแต่อยู่เป็น คุณก็ยังปลอดภัย (คิดว่านะ)
  • หากคุณไม่มีความสามารถและอยู่ไม่เป็นอีก ลาก่อน!
Ross McCammon
รอส แมคแคมมอน

ตอนอ่านชื่อหนังสือและคำโปรย ซิสคิดว่าจะได้อ่านฮาวทูจากผู้ชายที่มั่นอกมั่นใจ ประสบการณ์โชกโชนและประสบความสำเร็จ ซึ่งรอส แมคแคมมอน (Ross McCammon) ผู้เขียนก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพียงแต่ภายใต้ความมั่นใจของเขา รอสรู้สึกว่าตัวเองเป็นจอมหลอกลวง เขารู้สึกประดักประเดิด อยากหนีไปซ่อนตัวเวลาต้องพูดในที่สาธารณะ คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอและไม่คู่ควรที่จะทำงานกับนิตยสารผู้ชายระดับโลกอย่างเอสไควร์ (Esquire) 

แต่รอสซ่อนความไม่มั่นใจเหล่านี้ไว้อย่างมิดชิดและวางตัวอย่างมือโปร (หลังจากทำผิดพลาดเงอะๆ งะๆ มาหลายปี) จนเขากลายเป็นบรรณาธิการและนักเขียนของนิตยสารชื่อดังระดับโลก เช่น เอสไควร์,​ เมนส์เฮลท์ (Men’s Health), คอสโมโพลิแทน (Cosmopolitan), บลูมเบิร์ก (Bloomberg), บิสซิเนสวีก (Businessweek) และอองเทรอเพรอเนอร์ (Entrepreneur) ได้ร่วมงานกับคนดังมากมาย เช่น ริแอนนา (Rihanna) และ ฟิฟตี้เซนต์ (50 Cent) เป็นต้น 

รอสจะมาบอกเล่าวิธีอยู่เป็นจากประสบการณ์ตรงของเขา ชายหนุ่มวัย 30 ปีจากเมืองชนบทที่ต้องเริ่มต้นเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่และวิธีใช้ชีวิตในเมืองนิวยอร์ก

ใครๆ ก็เป็นจอมหลอกลวง แม้แต่คนดังระดับโลก

เมอรีล สตรีป (Meryl Streep) นักแสดงเจ้าของออสการ์ 3 รางวัล และถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากที่สุดถึง 21 ครั้ง ยังเคยมีช่วงเวลาที่คิดว่า “ใครจะอยากดูฉันแสดงหนังกันล่ะ? ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องแสดงยังไง แล้วฉันแสดงไปเพื่ออะไรเนี่ย?”

ไม่ว่าจะคนดังหรือคนทั่วไปที่ประสบความสำเร็จต่างก็เคยรู้สึก (หรือยังรู้สึกอยู่) ว่าตัวเองเป็น ‘จอมหลอกลวง’ หรือ imposter syndrome ทั้งนั้น รอสก็เช่นกัน

รอสเติบโตมาในเมืองเล็กๆ ของรัฐเท็กซัส ใช้ชีวิตเรียบง่าย จบโรงเรียนธรรมดา ผลการเรียนธรรมดา และเริ่มทำงานในนิตยสารธรรมด๊าธรรมดา จึงไม่แปลกที่เขาจะถ่อมตัวและคิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับนิตยสารระดับโลก เขาเผลอคิดบ่อยๆ ว่า “ฉันคงอยู่ที่นี่ได้ไม่เกิน 6 เดือน” “อีกไม่นานพวกเขาต้องรู้แน่ว่าฉันเป็นจอมหลอกลวงที่ไม่คู่ควรกับงานที่นี่”

แน่นอนว่ามันไม่เป็นแบบนั้น เพราะหลังจากนั้นเขาได้ทำงานอยู่ในแวดวงนิตยสารชื่อดังมากมายนับสิบปีดังที่กล่าวไปตอนต้น

“ทุกคนล้วนแปลกประหลาดและขี้กังวลกันทั้งนั้น แม้จะโด่งดังหรือยิ่งใหญ่แค่ไหน พวกเขาก็ยังคงแปลกประหลาดและขี้กังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้แสดงอาการใดๆ เลย”

แม้จะรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควร แต่เมื่อโอกาสมาเขาก็คว้าไว้และ ‘สู้’ ไม่ใช่วิ่งหนี ช่วงเริ่มงานแรกๆ รอสกล่าวว่าเขาไม่เคยพร้อมทำงานเลย แต่รู้สึกเหมือนออกไปสู้งานมากกว่า

ชีวิตในนิวยอร์กคือการเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ในวัย 30 ปีของเขา “ผมไม่รู้จักคนใหญ่คนโตเลย ไม่รู้วิธีร่วมทานอาหารมื้อกลางวันทางธุรกิจ ไม่รู้วิธีสั่งเครื่องดื่มในบาร์ด้วยซ้ำ สรุปแล้วผมไม่รู้วิธีทำงานให้กับนิตยสารชื่อดังและไม่รู้วิธีใช้ชีวิตในนิวยอร์กเลย!”

รอสเริ่มจากยอมรับว่ามีเรื่องมากมายที่เขาไม่รู้ แต่เขาสามารถเรียนรู้และเติบโตได้ด้วยการลองผิดลองถูกและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ จน ‘อยู่เป็น’ หรือทำงานได้อย่างสบายใจไม่ว่ากับใครหรือสถานการณ์ไหนก็ตาม

ภายในเล่มมีเรื่องราวของรอสตั้งแต่สัมภาษณ์งาน, ได้งาน, ย้ายไปอยู่นิวยอร์ก, เริ่มงานวันแรกอย่างกระอักกระอ่วน, กินเลี้ยงครั้งแรกอย่างน่าอึดอัด, สัมภาษณ์คนดังคนแรกที่อีกฝ่ายรู้สึกเบื่อ ฯลฯ รอสมาแชร์บทเรียนเล่านี้เพื่อหวังว่าพวกเราจะผิดพลาดน้อยลง

ซิสชอบคำแนะนำของรอสมาก สั้น กระชับ ตรงประเด็น ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปถึงเรื่องสำคัญ เช่น วิธีตอบอีเมล, วิธีจับมือและทักทายอย่างให้เกียรติ, หัวข้อคุยสัพเพเหระเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดี, มารยาทบนโต๊ะอาหารทางธุรกิจ, วิธีคุยกับคนแต่ละอาชีพเพื่อให้เขาเปิดใจ เป็นต้น

มาดูวิธีการอยู่เป็นในสมรภูมิออฟฟิศบางส่วนจากหนังสือกันค่ะ

10 วิธีอยู่เป็นในที่ทำงาน

  1. เมื่อถูกถามในเรื่องที่ไม่เข้าใจ อย่าแถ! (เชื่อเถอะ รอสแถมาแล้วและมันกลายเป็นความทรงจำที่ผุดขึ้นมาให้เขารู้สึกอายอยู่บ่อยๆ) จงยอมรับว่าไม่รู้และถามอีกฝ่ายว่า “ผมไม่เข้าใจในสิ่งที่ถาม ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยได้ไหมครับ” เป็นการแสดงความจริงใจและกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  2. ยิ้มซะ ยิ้มให้ดูซื่อบื้อที่สุด หน้าตาบึ้งตึงทำให้คนเราห่อเหี่ยวและกระตุ้นให้คนรอบข้างพลอยบึ้งตึงไปด้วย หากอยากทำงานร่วมกันอย่างสบายใจ อย่าลืมรอยยิ้ม
  3. สงบปากสงบคำในที่ประชุม นำเสนอ ตอบคำถาม แสดงความเห็นอย่างกระชับ อย่าอธิบายเกินความจำเป็น การอธิบายยืดเยื้อทำให้ผู้ฟังจับประเด็นยากและอยากฟังคุณพูดน้อยลง
  4. หัวข้อการคุยเล่นแบบผิวเผินสำหรับคนที่ไม่ชอบการคุยเล่นแบบผิวเผิน คุณต้องยอมรับว่าคุณอยู่ในสังคมที่คุณต้องพูดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่การปิดปากเงียบอาจส่งผลเสีย เช่น เจอเพื่อนร่วมงานในลิฟต์, เจอผู้บริหารตอนกำลังรอกาแฟ จงหยิบหัวข้อสนทนาที่ปลอดภัยและจบได้อย่างรวดเร็วมาพูดคุย เช่น สภาพอากาศ, คุณหวังว่างาน/กิจกรรมที่คุณทำอยู่จะออกมาเป็นอย่างไร, กล่าวคำชม, วันหยุดพักร้อนที่วางแผนไว้ เป็นต้น
  5. การกล่าวคำอวยพร หากไม่ใช่งานเฉพาะบุคคล ควรใช้คำว่า “แด่ทุกคน” แทนที่จะไล่พูดชื่อให้ครบจนหมด จงกล่าวสั้นๆ ถ้าคุณเริ่มเมื่อยมือข้างที่ถือแก้วไว้ นั่นเป็นสัญญาณว่าควรรีบตัดจบได้แล้ว ไม่ต้องกดดันตัวเองว่าต้องกล่าวคำอวยพรยิ่งใหญ่ แค่จริงใจก็พอ เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้ฟังอยากได้ยิน
  6. หาร้านอาหารและบาร์ประจำใกล้ออฟฟิศ ร้านที่คุณเข้ากันได้ดีกับบาร์เทนเดอร์และพูดชื่อออกมาได้โดยไม่เคอะเขิน นอกจากไว้เป็นที่ผ่อนคลายแล้ว ยังสามารถใช้เป็นที่ต้อนรับแขกได้ด้วย
  7. การแต่งตัวคือการสร้างความมั่นใจที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และซื้อได้ ดังนั้นจงสวมเสื้อผ้าที่ทำให้คุณรู้สึกดีและมั่นใจ
  8. การพูดในที่สาธารณะ รอสเคยดื่มวอดก้าและกินยาซาแน็กซ์เพื่อคลายความเครียดก่อนกล่าวสุนทรพจน์ เชื่อเถอะว่ามันออกมาไม่ดีเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วประสบการณ์จะพัฒนาคุณเอง โดยรอสให้เทคนิคไว้ดังนั้น
  • ลองใช้สูตรการกล่าวสุนทรพจน์ของเดล คาร์เนกี 1. เล่าเรื่องส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับหัวข้อนั้น 2.แนะนำการกระทำหนึ่งอย่างให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม 3. อธิบายอย่างชัดเจนและกระชับว่าผู้ฟังได้ประโยนชน์อะไรจากการทำสิ่งนั้น 
  • ยังมีสูตรกล่าวสุนทรพจน์อีกมากมาย เช่น สูตรของ Ted Talk, สูตรพูดย้ำซ้ำๆ ลองหาข้อมูลและนำไปใช้ได้
  • สำหรับท่าทาง ให้มองคน 5 คนคือ คนที่อยู่มุมห้อง 4 ด้านและคนที่นั่งตรงกลาง
  • ใช้คำว่า “คุณ” เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยง เช่น ผมดีใจที่ได้มาพูดกับคุณที่นี่
  • จำไว้ว่าทุกคนอยู่ฝ่ายเดียวกับคุณ คนที่มานั่งฟังก็อยากให้การกล่าวสุนทรพจน์นี้น่าสนใจและสำเร็จไม่ต่างจากคุณ ทุกคนอยากมีช่วงเวลาดีๆ อยากเรียนรู้ และอยากเห็นคุณทำหน้าที่ได้ดี

วิธีเป็นคนน่าเกรงขามและน่าเชื่อถือ

หลายคนบอกว่ารอสเป็นคนน่าเกรงขาม นั่นเป็นข้อดีที่ทำให้ผู้คนรับฟังและเชื่อถือเขา แถมยังสามารถสร้างระเบียบและสถานะทางสังคมให้เขาด้วย ซึ่งรอสแนะนำ 4 วิธีที่ทำให้คุณกลายเป็นคนน่าเกรงขามไว้ดังนี้

  1. จงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองพูด
  3. จงกล้าหาญ
  4. จงเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

⋆。゚☁︎。⋆。 ゚☾ ゚。⋆

เล่มนี้สนุกจนวางไม่ลงเลยค่ะ (ซิสถึงขนาดพกไปอ่านตอนปั่นจักรยานฟิตเนสด้วย) อ่านวันเดียวจบ สำนวนการเขียนของรอสตลกมากๆ แบบ “นี่มันฉันชัดๆ” อ่านไปเห็นภาพตามเลย อยากให้มีวิดีโอสั้นเป็นซีรีส์จำลองสถานการณ์ในเล่มเลยค่ะ ทั้งตลกและได้สาระ นำไปพัฒนาตัวเองเรื่องการทำงานได้จริง

เพื่อนๆ วัยทำงานที่อยากฝึกการวางตัวให้อยู่เย็นเป็นสุขในออฟฟิศ ห้ามพลาดเล่มนี้เลยค่ะ



1 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน