#ReadersGarden เล่มที่ 37
สาวกซานต้าทั้งหลาย คุณเคยสงสัยมั้ยว่า…
✦ ซานตาคลอสใช้วิธีไหนส่งของขวัญให้เด็ก 300 ล้านคนทั่วโลกภายในคืนเดียว?
✦ เขารู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นเด็กดีหรือเด็กดื้อ?
✦ วิธีหาเงินของซานต้าในการนำมาซื้อของขวัญให้เด็กๆ
✦ ทำไมผู้ช่วยของซานต้าต้องเป็นเอลฟ์และกวางเรนเดียร์?
พูดตามตรงว่า ซิสก็ไม่เคยสงสัยหรอกนะ แหม มันก็ต้องเกิดขึ้นได้ด้วยเวทมนตร์แห่งวันคริสต์มาสอยู่แล้วล่ะ! จนกระทั่งได้อ่านหนังสือรู้ทันซานต้า (The Truth About Santa) ของเกรกอรี โมน (Gregory Mone) บรรณาธิการของนิตยสาร Popular Science ที่จะมาไขกระจ่างจินตนาการเหล่านี้ด้วยวิทยาศาสตร์
“เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยก็ไม่ต่างอะไรจากเวทมนตร์”
Arthur C. Clake
เกรกอรีผูกตำนานพื้นบ้านและประวัติศาสตร์ของซานตาคลอสให้เข้ากับโลกสมัยใหม่และวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจและเข้าถึงง่าย โดยสมมติว่า หากคุณซานต้าเป็นคุณลุงใจกว้างที่รวยล้นฟ้า และไม่ได้มีเวทมนตร์อะไรเลย เขาจะทำภารกิจส่งของขวัญให้เด็กดีทั่วโลกเพียงข้ามคืนได้อย่างไร?
หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่า ใครๆ ก็สามารถเป็นซานต้าคลอสได้ ขอเพียงมีเทคโนโลยีล้ำโลก ทฤษฎีทางฟิสิกส์นิดหน่อย หัวทางธุรกิจเล็กน้อย และเงินทองอภิมหาศาล (ถ้าแบทแมนกับไอรอนแมนไม่ไล่จับวายร้าย ก็คงมาเป็นซานตาคลอสแหละ)
นอกจากนี้เกรกอรียังทำให้เราตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม – ฐานที่มั่นในขั้วโลกเหนือของซานต้ากำลังละลายเพราะภาวะโลกร้อน, เรื่องสุขภาพ – พุงของคุณซานต้าและการระบาดของโรคอ้วน และจิตวิทยาเด็ก – วิธีรับมือกับเด็กดีและเด็กดื้อ
ยอมรับเลยว่าผู้เขียนรอบรู้กว้างมากและอธิบายแต่ละเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง การส่งของขวัญแค่หนึ่งคืน ต้องใช้เทคโนโลยีและความรู้ครอบจักรวาลทีเดียว
ขอเลือกเบื้องหลังการทำงานของคุณซานต้า 3 ข้อที่ชอบที่สุดจากหนังสือมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
1. ปล่องไฟและปล่องรูหนอน ส่งของขวัญด้วยการเดินทางข้ามเวลา
คุณคิดว่าถ้าคุณซานต้าทำงานแบบมนุษย์ทั่วไป ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการส่งของขวัญ?
ถ้าจะให้ประมาณจำนวนของขวัญที่ต้องส่งอาจจะยาก เพราะตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จำนวนที่เกรกอรีประเมินไว้ในปี 2009 ที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้คือ ราวๆ 300 ล้านชิ้น! โดยบ้านบางหลังมีเด็กมากกว่าหนึ่งคน ถ้าให้เฉลี่ยแล้ว ซานต้าต้องปีนเข้าปล่องไฟราว 200 ล้านหลัง ใช้เวลาอย่างน้อย 30 วินาทีในการลอบเข้าไปวางกล่องของขวัญใต้ต้นคริสต์มาสแล้วกลับออกมา
หากคุณซานต้าทำภารกิจทั้งหมดนี้ด้วยตัวคนเดียว เขาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 190 ปี!
วิธีที่จะส่งของขวัญสำเร็จในข้ามคืน อย่างน้อยต้องมีผู้ช่วยราว 200-300 คน ผู้ช่วยที่ว่าก็คือ คนธรรมดาสามัญที่แต่งชุดซานต้าคลอสอยู่ตามห้างนั่นแหละ เมื่อมีแรงงานขนาดนี้ พวกเขาสามารถกระจายตัวส่งของขวัญพร้อมกันได้
ถึงแบบนั้น ผู้ช่วยแต่ละคนยังต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการส่งของขวัญจนครบ การจะทำให้สำเร็จในคืนเดียวต้องเดินทางผ่านรูหนอน
รูหนอนคืออะไร? ลองจินตนาการว่ามีกระดาษแผ่นหนึ่งวางราบอยู่ คุณยืนอยู่ที่จุดสีเหลืองริมสุดของกระดาษ ส่วนเพื่อนของคุณอยู่ที่จุดสีฟ้าซึ่งอยู่ริมสุดอีกฝั่งหนึ่ง ถ้าจักรวาลกระดาษแผ่นนี้วางราบอยู่ ทางที่ใกล้ที่สุดที่คุณจะเดินทางไปหาเพื่อนได้คือทางตรง เดินจากขอบกระดาษด้านหนึ่งไปยังอีกด้าน
แต่ถ้าจักรวาลกระดาษแผ่นนี้พับอยู่ตามในภาพด้านบน พับจนจุดสีเหลืองและสีฟ้ามาอยู่ตรงกัน เมื่อคุณเจาะรูบนกระดาษจากจุดสีเหลืองมายังจุดสีฟ้า แล้วเอาหลอดมาเสียบผ่านรูทั้งสอง คุณจะสามารถโดดจากจุดเหลืองมาจุดฟ้าได้ในพริบตา มันคือรูหนอนนั่นเอง
สรุปแล้ว รูหนอนคือทางลัดตัดผ่านห้วงอวกาศและเวลา
หากเหล่าผู้ช่วยซานต้าใช้ปล่องไฟรูหนอนในการเดินทางไปบ้านแต่ละหลัง ผู้ช่วยหนึ่งคนจะสามารถโผล่ไปในบ้านนับพันหลังได้ในเวลาเดียวกัน และการใช้เวลา 30 วินาทีในการหย่อนของขวัญแต่ละบ้าน จะเหลือเพียงไม่กี่วินาทีเพราะการย้อนเวลาของรูหนอน
รูหนอนเป็นวิธีที่อันทรงประสิทธิภาพที่สามารถย่นเวลางานที่ต้องทำทั้งปีให้ทำเสร็จในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ความไม่เสถียรของรูหนอนก็เป็นอันตรายมาก คุณอาจไปโผล่อยู่ในห้วงมิติเวลาที่ไม่รู้จักและกลับมาไม่ได้อีกเลย นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบรรดาซานต้าถึงต้องดื่มเอ้กน็อกมากมาย อาจจะเพื่อย้อมใจก่อนทำงานและเยียวยาบาดแผลจากการสูญเสียเพื่อนร่วมงานที่หลุดไปในมิติประหลาดๆ ทุกปีก็ได้
ที่จริงบทนี้เกรกอรีอธิบายทฤษฎีรูหนอนและการเดินทางข้ามเวลาไว้เยอะกว่านี้มาก จนโรคได้ดิบได้ D วิชาฟิสิกส์ของซิสกำเริบขึ้นมาทีเดียว 🤯 อ่านไปถึงกับเหม่อ ฮ่าๆ ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวลึกซึ้งกว่านี้ สามารถอ่านต่อในหนังสือรู้ทันซานต้าได้เลยค่ะ
2. เด็กดื้อหรือเด็กดี? จำแนกพฤติกรรมผ่านโปรแกรมวิเคราะห์วิดีโออัจฉริยะ
ถึงสมุนชาวเอลฟ์จะขยันขันแข็งขนาดไหน พวกเขาก็ไม่สามารถดูวิดีโอบันทึกพฤติกรรมของเด็กๆ จากกล้องวงจรปิดทั่วทุกมุมโลกได้หมดหรอก โชคดีที่พวกเขามี ‘ซอฟต์แวร์วิเคราะห์วิดีโออัจฉริยะ’ ที่ช่วยจับเฉพาะไฮไลต์ได้
ซอฟต์แวร์อย่าง Smart Catch ถูกนำมาใช้ตรวจจับความผิดปกติตามสนามบิน โกดัง หรือสถานที่ต่างๆ โดยจะตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น สแกนหาคนที่เข้ามาในเขตหวงห้าม, คนที่ปีนเข้ารั้วบ้านคนอื่น, หรือการที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของแขนขาเข้าหาอีกบุคคลหนึ่งและชักกลับ อาจถูกตีความว่าเป็นท่าทางที่ก้าวร้าว เพราะอาจหมายถึงกำลังผลักหรือต่อยคนอื่นอยู่ก็ได้ เป็นต้น
เมื่อเจอท่าทางที่น่าสงสัย ซอฟต์แวร์จะส่งสัญญาณเตือน แล้วเหล่าเอลฟ์จะวิเคราะห์อีกทีว่านั่นเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวจริงหรือไม่ วิธีนี้ช่วยลดปริมาณวิดีโอที่ต้องดูไปได้มหาศาล รวมถึงลดความผิดพลาดจากการนั่งจ้องจอทั้งวันทั้งคืนจนตาลาย
โปรแกรมวิเคราะห์เสียงก็ถูกนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยการตรวจจับคำพูดที่มีคีย์เวิร์ดน่าสงสัย เช่น คำหยาบ หรือคำสุ่มเสี่ยงอย่าง วางเพลิง, ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
วิธีนี้ทำให้ซิสนึกถึงระบบ Social Credit ของจีน คอยจับตาดูการใช้ชีวิตของประชาชน(แทบจะ)ทุกฝีก้าว ให้คะแนนและจัดอันดับ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของพวกเขาตามมาตรฐานของรัฐบาล เช่น หักคะแนนเมื่อทำผิดกฏจราจร, ใช้คำรุนแรงบนโลกโซเชียล, แชร์ข่าวที่ไม่เหมาะสม และจะให้คะแนนเมื่อคุณเข้าร่วมงานการกุศล, ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
คะแนนมีผลต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ผู้ที่คะแนนความน่าเชื่อถือต่ำจะถูกห้ามไม่ให้โดยสารเครื่องบินหรือรถไฟ, ส่วนผู้ที่คะแนนสูง เมื่อใช้บริการเว็บหาคู่ โปรไฟล์จะปรากฏให้คนอื่นเห็นมากขึ้น เป็นต้น
ระบบนี้คล้ายคลึงกับหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวล (George Orwell) กับประโยคจากหนังสือที่ว่า “Big Brother is watching you!” (พี่เบิ้มกำลังจับตามองคุณอยู่!)
ในที่นี่คงจะเป็น ‘Santa Claus is watching you!’ โฮ่ โฮ่ โฮ่… เวทมนตร์วันคริสต์มาส หมดความโรแมนติกไปทันที 🥺
ซื้อหนังสือรู้ทันซานต้า (The Truth About Santa) : นายอินทร์, Kinokuniya
3. ให้รางวัลชมเชยเด็กดี แทนที่จะเน้นลงโทษเด็กดื้อ
เรารู้กันอยู่แล้วว่าคุณซานต้าจะนำของขวัญมาให้เด็กดี แต่ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เขาจะลงโทษเด็กดื้อด้วยการหย่อนถ่านร้อนๆ ไว้ในถุงเท้า (ให้ตายสิ! นี่นักบุญหรือนักฆ่า?)
เรื่องเล่านี้คงมาจากพ่อแม่ที่ต้องรับมือกับลูกจอมดื้อของตัวเอง โดยเลือกใช้วิธีขู่และลงโทษให้เด็กกลัวและไม่ทำผิดอีก แต่งานวิจัยทางจิตวิทยาเด็กส่วนใหญ่พิสูจน์แล้วว่า การลงโทษมันไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก นอกจากจะใจร้ายแล้วยังไม่ได้ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของเด็กๆ ด้วย
การส่งเสริมพฤติกรรมทางบวก (Positive Reinforcement) อย่างการชมเชยและให้รางวัลเมื่อพวกเขาทำความดีกลับปลูกฝังนิสัยที่ดีได้ผลมากกว่า
แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน วิธีรับมือควรปรับให้แตกต่างกันออกไป เพียงแต่ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีลงโทษหรือใช้ความกลัวมาปลูกฝังพฤติกรรม ลองใช้วิธีชมเชยและให้รางวัลเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาอยากแสดงออกในเชิงบวกเองก่อน อาจจะได้ผลดีกว่า
เห็นหน้าปกสีแดงดีไซน์น่ารักแบบนี้ นึกว่าจะได้อ่านเพื่อผ่อนคลาย กลายเป็นหัวแทบระเบิด 🤯 ในความไร้สาระและอารมณ์ขันที่สอดแทรกอยู่ทุกหน้า มีสาระอัดแน่นเต็มๆ โดยเฉพาะเรื่องทางฟิสิกส์อย่าง ทฤษฎีรูหนอน, การวาร์ป, และไทม์แมชชีน
เกรกอรีเก่งในการอธิบายเรื่องยากๆ ได้ดี อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่สู้รบปรบมือกับฟิสิกส์จนได้ดิบได้ D ทุกเทอมมาแบบฉิวเฉียดอย่างซิส อ่านเล่มนี้แล้ว แทบจะเกลียดซานต้าไปเลยทีเดียว ฮ่าๆ
ขอกลับไปเชื่อว่าซานตาคลอสเสกปาฏิหาริย์แห่งวันคริสต์มาสได้ด้วยเวทมนตร์เหมือนเดิมอาจจะดีต่อใจ(และโรคต่อต้านฟิสิกส์)มากกว่า 🎄😂