สรุปหนังสือ I Decided to Live as Myself : ใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงอย่างมีความหมาย

0 Shares
0
0
0
0
0

#ReadersGarden เล่มที่ 6

ความเยาว์วัยไม่ได้วัดกันที่ตัวเลข แต่ขึ้นอยู่กับหัวใจของเรา แม้ชีวิตจะพาเรามาถึงวัยที่หลายคนเรียกว่า “วัยผู้ใหญ่” แต่ในใจลึกๆ เราอาจยังรู้สึกเหมือนเป็นเด็กวัยรุ่นอยู่เลย เรายังทำผิดพลาด ยังตามหาคุณค่าของตัวเอง ยังกลัวที่จะต้องเผชิญโลกใบนี้คนเดียว และบางครั้งก็แอบฝันอยากไปอยู่ในดินแดนเนเวอร์แลนด์ของ ปีเตอร์ แพน

ถ้าคุณเองก็รู้สึกแบบนี้อยู่ หนังสือ I Decided to Live as Myself จะเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยปลอบโยน ให้ความอบอุ่นในวันที่เราต้องเผชิญกับโลกแห่งความจริงที่แสนเย็นชา

หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นไดอารี่แฝงจิตวิทยาของคุณคิมซูฮยอน (Kim Suhyun) ที่เล่าถึงความรู้สึกสับสนของทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ด้วยความจริงใจ พร้อมทั้งแบ่งปันวิธีอยู่กับมันให้ได้ หนังสือเล่มนี้ไม่พยายามบอกให้เราชนะความรู้สึกแย่ๆ แต่ช่วยให้เราเข้าใจว่า การมีวันที่ไม่ดีเป็นเรื่องธรรมดา มันคือรสชาติหนึ่งของชีวิต ขอแค่เราอย่าจมกับความทุกข์จนลืมมองหาความสุขรอบตัวก็พอ

เนื้อหาแบ่งออกเป็น 6 พาร์ท ตั้งแต่ to-do list เพื่อการรักและเห็นคุณค่าของตัวเอง ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีรอบตัว และการมองโลกในแง่บวกขึ้น ซิสจะหยิบข้อคิดดีๆ จากแต่ละพาร์ทมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

To do list เพื่อการมีชีวิตที่ให้เกียรติตัวเอง

มีชีวิตธรรมดา ไม่ริษยาในสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวเอง อดทนต่อสายตาเย็นชา และใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็น

‘ธรรมดา’ อาจเป็นคำที่ยอมรับได้ยาก ในสมัยเด็กเราอาจฝันหวานถึงการได้เป็นคน ‘พิเศษ’​ มีพลังวิเศษ​ ได้ทำเรื่องเปลี่ยนแปลงโลก เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล แต่ในตอนนี้ บางทีชีวิตธรรมดาก็มีความสุขเพียงพอแล้ว มีความเศร้าและความขมขื่นบ้าง ชีวิตวัยผู้ใหญ่ก็เป็นเช่นนี้เอง

ถ้าเรายังมัวแต่หนีเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการทุกครั้งที่เจ็บปวด เราก็จะไม่ก้าวไปไหนในโลกแห่งความจริง การหลุดออกจากจินตนาการและความเพ้อฝันวัยเด็ก แล้วห่อหุ้มชีวิตของตัวเองด้วยการเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่พิเศษนั้น คือเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ มันอาจไม่เรียบหรูและง่ายดาย แต่เป็นตัวตนที่น่าภาคภูมิของคุณ

ซื้อหนังสือ I Decided to Live as Myself : Shopee, SE-ED

To do list เพื่อการใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง

การใช้ชีวิตในแบบของตัวเองคือการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเราเอง ท่ามกลางประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง

ถ้าใครโตขึ้นมาแบบซิส ที่คุณแม่สั่งอาหารให้ทุกครั้งที่ไปทานข้าวนอกบ้าน เลือกข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้าให้ตลอด ตัดสินใจให้แม้แต่การโหวตเลือกนักการเมือง 😅 เมื่อต้องออกมาอยู่คนเดียว คงจะรู้สึกกลัวการตัดสินใจด้วยตัวเอง แน่นอนว่าท่านทำไปด้วยความหวังดี แต่ตัวตนเรากลับเลือนลางจนไม่รู้ว่าความเป็นตัวเองของเราคืออะไร สุดท้ายแล้วประสบการณ์ก็สอนว่า ความผิดพลาดไม่ได้น่ากลัว การไม่รู้จักตัวเองสิน่ากลัว

ก้าวแรกของการมีชีวิตในแบบตัวเองคือ ต้องรู้จักและเข้าใจตัวเอง ให้ความสนใจว่าที่ผ่านมาฉันใช้ชีวิตแบบไหน อยากมีคุณค่าแบบไหน เรื่องอะไรที่ทำให้ฉันมีความสุขและทุกข์ และฉันแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร



To do list เพื่อการปล่อยวางจากความกังวล

เมื่อเหนื่อย ก็บอกว่าเหนื่อย

คุณเป็นคนประเภทที่ไม่ค่อยพูดคำว่าเหนื่อย ไม่บอกคนอื่นว่าเหนื่อย และไม่คิดว่าตัวเองเหนื่อยหรือเปล่า? ข้อนี้ซิสคิดเหมือนคุณคิมซูฮยอนเลยว่า ตัวเองจะยิ่งเหนื่อยถ้าพูดออกไป เลยมักบอกว่า ‘ไม่เป็นไร’ แต่ถ้าเหนื่อยแล้วแกล้งทำเป็นไม่เหนื่อย สุดท้ายความรู้สึกที่มีต่อตัวเองก็จะพังทลายลงเป็นโดมิโน

“เมื่อมีกิจกรรมในชีวิตมากเกินไป 
เมื่อรู้สึกว่ากำลังจมอยู่ในความรับผิดชอบมากมาย 
เมื่อกลับมาแล้วน้ำตารินไหล
ก็ให้พูดว่า “ตอนนี้ฉันเหนื่อย” ”

ไม่มีใครดูแลคุณได้ดีเท่าตัวคุณเอง การฝืนอดทนคือการทารุณตัวเอง เห็นแก่ตัวสักนิดก็ได้ ไร้ความผิดชอบสักหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่อย่างไรความรับผิดชอบกับตัวเอง อย่าละเลยตัวเองจนรู้สึกหายใจไม่ไม่ออก

ซื้อหนังสือ I Decided to Live as Myself : Shopee, SE-ED

To do list เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกัน

ยังไงมนุษย์ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตราบใดที่คุณยังไม่ยอมแพ้ต่อการเป็นสัตว์สังคมและปลีกตัวไปอาศัยอย่างโดดเดี่ยวกลางป่าเขา ปลูกพืช ล่าสัตว์ประทังชีวิต แม้สังคมจะเย็นชาและไม่ใจดี แต่เราก็เลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ได้

คุณอยากอยู่ในสังคมแบบไหน จงทำตัวแบบนั้น – อยากให้คนอื่นให้เกียรติเรา เราก็ต้องให้เกียรติคนอื่น อยากให้เขาใจดี ก็จงใจดีกับเขา แต่อย่าทำดีเพียงเพราะกลัวจะถูกเกลียด การที่คุณพยายามเป็นคนดีในสายตาของคนที่ตัดสินตามอำเภอใจ เป็นเพียงแค่การสูญเสียประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเอง ต่อให้ใครเกลียดเรา มันก็ไม่ได้ทำลายชีวิตของเรา ดังนั้นอย่าเป็นคนดีเพียงเพราะไม่อยากโดนเกลียด

เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของเรา สามารถส่งผลดีต่อคนรอบข้างได้ด้วย



To do list เพื่อโลกที่ดีขึ้น

“เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิทธิทางการค้าได้ แต่เราสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าเล็กๆ ได้”

“เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการตกงานได้ แต่เราสามารถให้กำลังใจผู้ที่ออกไปประท้วงได้”

“เราไม่สามารถทำให้สื่อที่เสนอข่าวบิดเบือนหันมาเสนอความจริงได้ แต่เราสนับสนุนสื่อที่ดีได้”

“เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของคนคิดลบ แต่เราสามารถมองเขาด้วยสายตาอบอุ่นได้”

ทำในส่วนที่ตัวเองทำได้

บทนี้ทำให้ซิสรู้สึกอิ่มใจและฉุกคิดว่าปัญหาหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ที่เรามองว่าเกินกำลังหรือไกลตัวเกินไป ความจริงแล้วเราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยได้ แม้เพียงสิ่งเล็กๆ ก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากสิ่งเล็กน้อยรอบตัวเราเอง

To do list เพื่อชีวิตที่ดีและมีความหมาย

ชีวิตที่ยืนยาวไม่ได้วัดจากอายุขัย แต่วัดจากประสบการณ์ที่เราได้สัมผัส ถ้าอยากมีชีวิตที่ยืนยาวและเปี่ยมไปด้วยความหมาย ลองเติมความสดใหม่ให้ชีวิตในทุกวัน ช่วงสุดสัปดาห์ลองออกไปมองดูทะเล หลังเลิกงานลองเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน ลองพบปะผู้คนใหม่ๆ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ หลุดออกจากสิ่งที่เคยเป็นมา จงกลายเป็นตัวเองที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้

หมั่นเพิ่มโอกาสของชีวิต โบกมือลาอดีตที่ควรผ่านไป

อย่าปล่อยให้อดีตที่เจ็บปวดฉุดรั้งเราไว้ บนโลกนี้อาจมีคนที่ทำให้เราเจ็บปวด สร้างรอยแผลในใจ หรือทิ้งความทรงจำที่ไม่น่าจดจำไว้ แต่ตอนนี้เราเติบโตขึ้นแล้ว เราแข็งแรงพอที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ถึงเวลาโบกมือลาอดีต ปล่อยสิ่งที่ควรผ่านไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับชีวิตที่ดีและสดใสยิ่งกว่าเดิมค่ะ

เกาหลีใต้: ประเทศที่เป็นไปไม่ได้

หนึ่งในประเด็นที่สะท้อนเด่นชัดจากหนังสือ I Decided to Live as Myself คือความกดดันอันหนักอึ้งของสังคมเกาหลีใต้ แม้ว่าความกดดันของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก แต่สำหรับคนเกาหลีใต้ ความกดดันนั้นดูเหมือนจะรุนแรงกว่าที่อื่นหลายเท่า เพราะค่านิยมที่เชื่อว่า “ชีวิตที่ดี” = “ชีวิตที่ร่ำรวย”

คุณหมอคิมฮยอนชอล แห่งแผนกจิตเวชเคยกล่าวว่า ฮังการี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “สังคมไม่อนุญาตให้เตร็ดเตร่” และทั้งสามประเทศนี้ยังมีจุดร่วมอีกอย่างคือ อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงติดอันดับโลก

ในหลายวัฒนธรรม ช่วงเวลาเตร็ดเตร่ถือเป็นโอกาสในการพักผ่อน เติมพลัง และค้นหาตัวเอง เช่น วัยรุ่นฝรั่งนิยมใช้ Gap Year ออกเดินทางเรียนรู้โลก แต่สำหรับชาวเกาหลี การเตร็ดเตร่กลับถูกมองว่าเป็นการทำลายชีวิต เพราะชีวิตที่ “เหมาะสม” ในมุมมองของสังคมเกาหลี คือการเข้าเรียน ทำงาน แต่งงาน มีลูก และซื้อบ้านให้เสร็จสิ้นภายในช่วงอายุที่กำหนดไว้ การเตร็ดเตร่จึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม

แดเนียล ทูเดอร์ นักข่าวชาวอังกฤษที่ทำงานในเกาหลีใต้ เคยกล่าวว่า เกาหลีเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูงและความกดดันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เกียรติยศศักดิ์ศรี รูปร่างหน้าตา หรืออาชีพการงาน ผู้คนต้องอยู่กับการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้เขานิยามเกาหลีว่าเป็น “ประเทศที่เป็นไปไม่ได้” (Impossible Country) เพราะในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีรูปร่างผอมเหมือนกัน นิสัยถูกใจคนอื่นเหมือนกัน เรียนมหาวิทยาลัยดังเหมือนกัน หรือทำงานในบริษัทใหญ่เหมือนกัน

คำพูดของคุณคิมซูฮยอน ผู้เขียนหนังสือ ทิ้งท้ายไว้ได้อย่างสะเทือนใจ:

“พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็รู้สึกว่าโลกเป็นสถานที่ที่เย็นชาอย่างไร้เหตุผล ผู้คนต่างขีดเส้นแบ่งระหว่างกันโดยไม่จำเป็น หากสบโอกาสก็จะดูถูกและนินทาแม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องแสนธรรมดา เราต่างแกล้งทำเป็นไร้ความรู้สึกเพื่อทำงานหาเงินมาประทังชีวิต และต่างรู้สึกเป็นกังวลในความมั่นคงที่รางเลือนของสังคม ฉันไม่อยากกลายเป็นคนที่แย่ลงในโลกที่แสนเย็นชาใบนี้

ถึงแม้ว่าโลกจะเย็นชา แต่เราไม่อยากกลายเป็นคนที่เย็นชาไปด้วย อย่างที่หนังสือเล่มนี้สอนเรา บางทีเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่แข็งกระด้างโดยไม่รู้ตัว แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำได้อย่างงดงาม คือช่วยละลายน้ำแข็งในใจของเรา มอบไออุ่นและความหวังเล็กๆ ให้เกิดขึ้น

“เธอรู้สึกไร้ค่าหรอ? ฉันก็เคยรู้สึกแบบนั้น ผู้ใหญ่หลายคนก็รู้สึกเหมือนกัน แต่ฉันและอีกหลายคนผ่านมันมาได้ เราต่างเจอคุณค่าและความสุขในแบบของเราเอง เธอไม่ได้โดดเดี่ยว ความสุขมันเรียบง่ายกว่าที่เธอคิด แค่ค่อยๆ มองตัวเองด้วยความภูมิใจเถอะนะ”

ประโยคนี้อาจเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้อยากบอกกับเรา และคงเป็นกำลังใจสำคัญสำหรับใครก็ตามที่กำลังรู้สึกหลงทางในโลกที่กดดันใบนี้

ซื้อหนังสือ I Decided to Live as Myself : Shopee, SE-ED

ขอปิดบทความนี้ด้วยท่อนเพลงโปรดสมัยวัยรุ่น Endless Summer ของ NEWS ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกที่สอดคล้องกับหนังสือเล่มนี้ได้อย่างลงตัว เพลงนี้ถ่ายทอดช่วงเวลาวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความฝันและแสงสว่างในหัวใจ

เพราะฤดูร้อนนั้นที่ฉันฝันถึงยังคงอยู่ในใจ
พวกเรากำลังออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองที่ส่องประกายอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าอีกไม่นานเราจะต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ทั่วไปก็ตาม
แต่ที่ประตูนั่น ยังคงเชื่อมต่อกับฤดูร้อนนั้นไว้เสมอ

เนื้อเพลงนี้เหมือนกับจดหมายรักถึงช่วงเวลาวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวัง แม้ว่าชีวิตจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งเหล่านั้นจะยังคงอยู่ในใจ และพร้อมจะพาเราออกเดินทางค้นหาความหมายใหม่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต



0 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน