#ReadersGarden เล่มที่ 60
หากคุณกำลังเผชิญกับสภาวะมี ‘ความนับถือตัวเอง’ (self-esteem) ต่ำ หนังสือเล่มนี้จะช่วยเยียวยาคุณได้
หนังสือพลังแห่งการเพิ่มความนับถือตัวเอง (How To Raise Your Self-Esteem) เขียนโดยดร.นาธาเนียล เบรนเดน (Nathaniel Branden, Ph.D.) นักจิตบำบัดผู้บุกเบิกเรื่องจิตวิทยาแห่งความนับถือตัวเอง โดยเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1987 แต่เนื้อหายังคงเป็นจริงอยู่เสมอไม่ว่าจะผ่านไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม
“ในบรรดาคำพิพากษาทั้งหลายที่เราพบเจอในชีวิตนั้น ไม่มีเรื่องใดสำคัญเท่ากับคำพิพากษาที่เรามีต่อตัวเองอีกแล้ว”
– ดร.นาธาเนียล เบรนเดน
ประโยคด้านบนตอบคำถามว่าทำไมความนับถือตัวเองถึงเป็นเรื่องสำคัญ ความนับถือตัวเองเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเรารู้สึกยังไงกับตัวเอง โดยแสดงออกมาผ่านความคิด คำพูด การกระทำ การจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำ เช่น หากได้รับมอบหมายงานที่ท้าทาย คนที่มีความนับถือตัวเองสูงจะคิดว่าฉันทำได้โดยผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว ส่วนคนที่มีความนับถือตัวเองต่ำจะคิดไปก่อนว่าฉันทำไม่ได้หรอก เป็นต้น
ดังนั้นความนับถือตัวเองมีองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่
- ความรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ
- ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
หรือก็คือผลรวมของความเชื่อมั่นในตัวเองและความเคารพตัวเอง
คนที่มีความนับถือตัวเองสูงจะรู้สึกเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความเหมาะสมกับชีวิต รู้ว่าตัวเองมีความสามารถและคุณค่า มั่นใจแต่มิได้โอ้อวด ส่วนคนที่มีความนับถือตัวเองต่ำจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับที่ใดๆ รู้สึกผิดพลาดในฐานะการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ส่วนคนที่มีความนับถือตัวเองปานกลาง จะมีความรู้สึกสลับไปสลับมาระหว่างรู้สึกผิดและถูก เหมาะสมและไม่เหมาะสม จึงแสดงความไม่อยู่กับร่องกับรอยออกมา
ดร.เบรนเดนจะมาบำบัดผู้อ่านผ่านตัวอักษรว่า เราจะเติบโตและใช้ชีวิตอย่างนับถือตัวเองและเห็นคุณค่าของตัวเองได้อย่างไร? จะกำจัดวงจรพฤติกรรมทำลายตัวเองอันเนื่องมาจากความนับถือตัวเองต่ำได้อย่างไร? โดยถ่ายทอดผ่านประสบการณ์การบำบัดผู้ป่วยที่มีความนับถือตัวเองต่ำจากหลากหลายอาชีพ อายุ เพศ และสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ เช่น
- ชายติดสุราที่กลัวการมีความสุข เพราะรู้สึกว่าถ้ามีเรื่องดีเกินไป จะต้องมีเรื่องร้ายๆ ตามมา เขาจึงดื่มและก็ดื่ม
- หญิงสาวที่นอนกับผู้ชายหลายคน เพราะอยากรู้สึกมีความหมายกับใครสักคน ทั้งที่รู้ดีว่ามันคือการหลอกตัวเอง
- สาวน้อยวัยมัธยมที่ชอบโกหกพ่อแม่ เพราะรู้สึกว่าพี่ชายของตัวเองดีกว่าในทุกด้าน เธอจึงทำตัวไม่ดีเพื่อให้ได้รับความสนใจบ้าง
- ชายสูงวัยผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ไม่มีความสุขกับความสัมพันธ์ เพราะการถูกเลี้ยงโดยปราศจากความรักมาตั้งแต่เด็ก
ต่างคนต่างสถานการณ์ แต่ทุกคนมีความนับถือตัวเองต่ำเหมือนกัน สิ่งที่ดร.เบรนเดนทำเพื่อบำบัดพวกเขาคือ การพูดคุยหาสาเหตุและให้พวกเขาได้พิจารณาถึงสาเหตุและรู้สึกถึงความนับถือตัวเองผ่าน ‘แบบฝึกหัดการเติมประโยคให้สมบูรณ์’
ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ ชาร์ลส์ วาณิชธนากรวัยห้าสิบผู้ประสบความสำเร็จในการงาน แต่ไม่มีความสุขเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวจนต้องมาพบดร.เบรนเดนเพื่อบำบัด สมัยเด็กเขามีชีวิตยากลำบากเพราะมาจากครอบครัวผู้อพยพชาวรัสเซียที่ยากจน ถูกเลี้ยงดูโดยปราศจากความรัก เมื่อโตมา แม้เขาจะทำงานสร้างตัวจนร่ำรวย แต่ติดอยู่ในความสัมพันธ์รักๆ เลิกๆ ที่เขาไม่ต้องการ
กุญแจดอกสำคัญในการกอบกู้ความนับถือตัวเองของชาร์ลส์กลับมาคือ ตัวตนวัยเด็กที่อยู่ในร่างผู้ใหญ่ ดร.เบรนเดนอยากให้ชาร์ลส์ก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ ในวัยเยาว์ไปให้ได้ จึงให้แบบฝึกหัดเติมประโยคกับชาร์ลส์และนี่คือสิ่งที่เขาเขียนตอบกลับ
ถ้าเด็กที่อยู่ในตัวฉันพูดได้ เขาจะพูดว่า…
- ผมกลัว
- ทำไมแม่ถึงตะคอกผมอยู่เรื่อย?
- ทำไมพ่อต้องตีผมด้วย?
- ทำไมไม่มีใครเล่นกับผมเลย?
- เวลาที่ผมอาบน้ำ ทำไมพ่อต้องเข้ามาล้อเลียนผมด้วย?
สิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อการอยู่รอดคือ
- ต้องระมัดระวัง
- หลบซ่อน
- อ่านหนังสือ
- ไม่ไว้ใจใคร
- เรียนรู้ที่จะไม่พึ่งพิงใคร
สิ่งที่ตัวตนวัยเด็กของฉันต้องการจากฉันคือ
- อนุญาตให้ทำตัวตามธรรมชาติได้
- ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย
- ปล่อยให้เขาได้ร้องไห้
- รับฟังความเจ็บปวดของเขา
- ไม่วิ่งหนีเขา
ถ้าฉันมีความเห็นใจและให้ความรักแก่ตัวตนวัยเด็กมาขึ้น
- ผมจะปล่อยให้เขาได้เล่นมากขึ้น
- เขาจะไม่รู้ว่าถูกทุกคนทอดทิ้ง
- ผมคงเป็นพ่ออย่างที่เขาไม่เคยมี
- ผมคงสามารถทำให้โลกนี้เหมาะกับตัวเขา
- เราทั้งสองคงรู้สึกปลอดภัย
เมื่อชาร์ลส์รับรู้ถึงสาเหตุ ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง เผชิญหน้าและยอมให้อภัยตัวเอง ความนับถือของตัวเองจึงเพิ่มขึ้น
หลายสัปดาห์ผ่านไป ชาร์ลส์ยุติความสัมพันธ์ที่เขาไม่ต้องการและยืดเยื้อมาหลายปี เขาเริ่มแต่งตัวดีขึ้น ใช้ชีวิตดีขึ้น เรียกว่าอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขจากสิ่งที่ตัวเองสร้างมาได้อย่างเต็มที่ เขามีพลังชีวิตและดูมีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าเดิม
ซื้อหนังสือ How To Raise Your Self-Esteem พลังแห่งการเพิ่มความนับถือตัวเอง : SE-ED, Kinokuniya
นี่เป็นตัวอย่างแบบฝึกหัดเติมประโยคที่ปรับตามสถานการณ์ของผู้บำบัดแต่ละคนของดร.เบรนเดน ซึ่งในการบำบัดมารายละเอียดขึ้นตอนมากกว่านี้ แต่แบบฝึกหัดเติมประโยคคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ผู้บำบัดได้สำรวจและเผชิญหน้ากับตัวตนในภายใน
นี่เป็นเทคนิคเรียบง่ายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ความยากคือเราต้องเต็มใจที่อยากทำ ทำอย่างสม่ำเสมอ และกล้าที่จะยอมรับตัวเองแม้แต่ด้านที่เราไม่อยากจะมองหรือจดจำ
คำพูดที่ดีจากหนังสือเพื่อยกระดับความนับถือตัวเองคือ live consciously หรือใช้ชีวิตอย่างรู้ตัวหรือมีสติ ซึ่งเป็นการตระหนักรู้อย่างชัดเจน เคารพต่อความเป็นจริง เผชิญหน้ากับตัวเอง ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน รับผิดชอบต่อปัจจุบัน มีเหตุผล เต็มใจที่จะมองเห็นและแก้ไขข้อผิดพลาด
ซิสมองว่าสติเกี่ยวข้องกับความนับถือตัวเองจริงๆ ตอนที่เรามีสติเต็มที่ รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราจะมีความมั่นใจและนับถือตัวเองสูง แต่ในช่วงเวลาที่เรามีความนับถือตัวเองต่ำ ไม่มั่นใจ เป็นช่วงที่เรารู้สึกเหม่อลอย ไม่ค่อยมีสติ เหมือนมีหมอกควันทางจิตใจมาบดบังความคิด เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในโหมดออโต้ไพลอท
ในหนังสือยังมีเทคนิคอีกมากมายที่จะช่วยเยียวยาเราในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความนับถือตัวเอง เช่น การรู้ตัวเอง (self-awareness), การพัฒนาตัวเอง (personal growth), การฝึกสติ เป็นต้น โดยใข้คำพูดค่อนข้างวิชาการ ตรงตัว กระชับ ได้สำรวจตัวเองในแง่มุมต่างๆ และเข้าใจตัวเองรวมถึงคนอื่นมากขึ้น