เคยสงสัยไหมคะว่าหนุ่มหน้าคมผมหยิกบนแบงค์ 10 ดอลลาร์คนนี้คือใคร?
เขาคืออเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) หนึ่งใน “บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา” มือขวาของประธานาธิบดีคนแรกอย่างจอร์จ วอชิงตัน (George Washington)
ชีวิตของแฮมิลตันเต็มไปด้วยสีสัน ดราม่า และแรงบันดาลใจ จากเด็กกำพร้ายากไร้สู่การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา! เขาเคยเป็นคู่ปรับทางการเมืองกับโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ประธานาธิบดีคนที่ 3 และเสียชีวิตจากการดวลปืนกับแอรอน เบอร์ (Aaron Burr) รองประธานาธิบดี
เรื่องราวของแฮมิลตันถูกนำมาเล่าขานผ่าน Hamilton the Musical ละครเพลงแห่งยุคที่กวาดรางวัลแบบทุบสถิติมาแล้วทั่วโลก ผสมผสานดนตรีฮิปฮอป R&B ทั้งหมด 46 บทเพลงจากฝีมือการประพันธ์ของ ลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) นักแสดงและนักแต่งเพลงจากหนังดังหลายเรื่อง เช่น Encanto (We don’t talk about Bruno, no, no, no!), Moana (How far I’ll go) เป็นต้น เขารับบทเป็นแฮมิลตันในการแสดงเวอร์ชันแรกด้วย เรียกว่าแต่งเพลงเอง ร้องเอง แสดงเอง 👏👏👏
ปีนี้ซิสบินไปสิงคโปร์เพื่อดู Hamilton โดยเฉพาะเลยค่ะ ประทับใจที่สุด! เป็นละครเพลงที่ดี่ที่สุดที่เคยดูมาเลย กลับมาฟังเพลง Hamilton ซ้ำๆ ทุกวันมาหลายอาทิตย์แล้ว
วันนี้เลยจะมารีวิวให้เพื่อนๆ ที่ชอบละครเพลง หรืออยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อเมริกาฟังว่าทำไมถึงควรดู Hamilton สักครั้งในชีวิต รวมถึงความประทับใจสิบดาวกับโรงละคร Sands Theatre ที่สิงคโปร์ค่ะ
ตัวละครสำคัญใน Hamilton
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับชาวแก๊งค์นักปฏิวัติใน Hamilton กันค่ะ ภาพด้านล่างจะเป็นนักแสดงชุดที่ซิสไปดูที่สิงคโปร์
1. อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน: พระเอกของเรื่อง เป็นผู้อพยพจากเกาะแคริบเบียนที่ไต่เต้าจนกลายเป็นมือขวาของประธานาธิบดีวอชิงตัน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา
2. จอร์จ วอชิงตัน: ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา เป็นผู้ให้โอกาสและสนับสนุนแฮมิลตัน เป็นเหมือนเป็นพ่อที่แฮมิลตันเคารพ
3. แอรอน เบอร์: คู่แข่งทางการเมืองของแฮมิลตัน มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันอยากเป็นผู้นำ
4. มาร์ควิส เดอ ลาฟาแยตต์ (Marquis de Lafayette): เพื่อนและพันธมิตรชาวฝรั่งเศสของแฮมิลตัน ช่วยเหลืออเมริกา ในสงครามปฏิวัติ
5. โธมัส เจฟเฟอร์สัน: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรกของอเมริกา เป็นคู่ปรับทางการเมืองอีกคนของแฮมิลตัน แต่ก็ยังมีความเคารพซึ่งกันและกัน
6. กษัตริย์จอร์จที่ 3 (King George III): กษัตริย์แห่งอังกฤษ เป็นคู่ต่อสู้ของอเมริกาในสงครามปฏิวัติ
7. เอไลซ่า แฮมิลตัน (Eliza Hamilton): ภรรยาสุดที่รักของแฮมิลตัน เป็นทั้งเพื่อน คู่คิดและกำลังใจสำคัญ เธอเป็นลูกสาวคนกลางของตระกูลสกายเลอร์ (Schuyler) ตระกูลเศรษฐีในนิวยอร์ก เรื่องราวความรักของพวกเขาเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของละครเพลง
8. แองเจลิกา สกายเลอร์ (Angelica Schuyler): ลูกสาวคนโตของตระกูลสกายเลอร์ สวย ฉลาด กล้าหาญ มีความรู้สึกพิเศษกับแฮมิลตัน และมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาแฮมิลตัน
9. เพ็กกี้ สกายเลอร์ (Peggy Schuyler): น้องสาวคนเล็กของตระกูลสกายเลอร์ เป็นผู้หญิงที่ร่าเริง มีชีวิตชีวา สนิทกับแฮมิลตันเหมือนเพื่อนร่วมแก๊งค์
ชีวิตของแฮมิลตัน: สู่การปฏิวัติ
ย้อนกลับไปในปี 1757 อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ถือกำเนิดบนเกาะแคริบเบียนที่ยากจน พ่อทิ้ง แม่เสียชีวิต กลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เด็ก แฮมิลตันเป็นคนฉลาด ตอนอายุ 16 ปี เขาไปเรียนต่อที่ King’s College (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย) ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักคิดและนักปฏิวัติในนิวยอร์ก
เขาเริ่มเขียนบทความการเมืองจนโด่งดังไปทั่ว ตอนนั้นเป็นช่วงที่อเมริกากำลังลุกฮือต่อต้านอังกฤษ แฮมิลตันเลยไม่รอช้า คว้าดาบคว้าปืนเข้าร่วมกองทัพ จนกระทั่งปี 1776 อเมริกาประกาศอิสรภาพ แฮมิลตันในวัย 21 ปีกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในกองทัพด้วยความเก่งกล้าสามารถ จนกลายเป็นมือขวาของจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา
ด้านชีวิตส่วนตัวก็ไปได้ดีเช่นกัน เขาแต่งงานกับเอไลซ่า สกายเลอร์ ลูกสาวคนกลางจากตระกูลมหาเศรษฐีนิวยอร์ก ชีวิตดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบ มียศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สิน และความรัก แต่ที่จริงแล้วแฮมิลตันมีความรู้สึกพิเศษกับแองเจลิกา สกายเลอร์ พี่สาวของภรรยา ซึ่งเป็นรักต้องห้าม โดยเรื่องนี้ถูกตีความจากจดหมายแลกเปลี่ยนตลอดหลายปีระหว่างแฮมิลตันกับแองเจลิกา
ในทางการเมือง แฮมิลตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา ผู้วางรากฐานระบบการเงินที่มีส่วนทำให้อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจดั่งทุกวันนี้ เขายังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับโทมัส เจฟเฟอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 และอาร์รอน เบอร์ อดีตประธานาธิบดี
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือ เรื่องชู้สาวอันอื้อฉาวของแฮมิลตัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดกาล เมื่อแฮมิลตันถูกแบล็กเมล์โดยเจมส์ เรย์โนลด์ส สามีของชู้รักของเขาในข้อหาคอรัปชั่น สุดท้ายแฮมิลตันเปิดเผยเรื่องราวชู้สาวอันน่าอายทั้งหมดเพื่อล้างข้อหาคอรัปชั่น แม้จะรักษาตำแหน่งทางการเมืองไว้ได้ แต่เสียชื่อเสียงอย่างหนักและความสัมพันธ์ครอบครัวไม่เหมือนเดิมตลอดไป
หลังจากนั้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1800 เจฟเฟอร์สันและเบอร์ได้รับเสียงโหวตสูงสุดเท่ากัน สิทธิ์ในการตัดสินใจจึงตกอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแฮมิลตันโน้มน้าวให้พวกเขาโหวตเลือกเจฟเฟอร์สัน ซึ่งแฮมิลตันยังมีความเคารพและเชื่อใจมากกว่าเบอร์ เบอร์จึงกลายเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยนั้น
เบอร์ที่กระทบกระทั่งทางการเมืองกับแฮมิลตันอยู่บ่อยๆ เรื่องนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เขาจึงท้าดวลปืนกับแฮมิลตัน จนกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อเมริกา Burr–Hamilton Duel แฮมิลตันยิงไปที่กิ่งไม้เหนือศีรษะของเบอร์ แต่เบอร์กลับยิงเข้าตัวแฮมิลตันจนเขาเสียชีวิตในวัยเพียง 47 ปี เป็นการปิดตำนานของหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ
46 บทเพลงใน Hamilton The Musical
ตลอด 2 ชั่วโมง 50 นาที เราได้ชมการแสดงจุกๆ เต็มๆ 46 เพลง! แอบตกใจตอนเห็นจำนวนเพลง ดูเพลินมากจนไม่คิดว่าฟังเพลงไปเยอะขนาดนี้ เวลาผ่านไปไวมาก การแสดงมี 2 องค์ องค์แรกเป็นการเปิดตัวแฮมิลตัน ตั้งแต่อพยพมายังอเมริกาไปจนถึงเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติและประกาศอิสรภาพ องค์หลังเป็นเรื่องราวทางการเมืองสุดเข้มข้นไปจนถึงจุดจบของแฮมิลตัน
มาติดตามบทเพลงไพเราะที่เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตของเขา ขอแบ่งเป็น 5 ช่วงตามช่วงชีวิตสำคัญค่ะ (แอบไฮไลท์เพลงโปรดที่ซิสชอบมากๆ ไว้ให้ด้วย)
ช่วงที่ 1: จากผู้อพยพสู่มือขวาของนายพลวอชิงตัน
- Alexander Hamilton: เพลงเปิดตัว แนะนำตัวตนและความทะเยอทะยานของแฮมิลตัน
- Aaron Burr, Sir
- My Shot: เพลงปลุกพลัง แสดงความมุ่งมั่นของแฮมิลตันที่จะสร้างอนาคตอันยิ่งใหญ่
- The Story of Tonight
- The Schuyler Sisters
- Farmer Refuted
- You’ll Be Back
- Right Hand Man
ช่วงที่ 2: ความรัก สงคราม และชัยชนะ
- A Winter’s Ball
- Helpless: เพลงรักโรแมนติก ถ่ายทอดความรู้สึกรักแรกพบที่มีต่อแฮมิลตันของเอไลซ่า
- Satisfied: เพลงรักต้องห้าม ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ระหว่างแองเจลิกากับแฮมิลตัน
- The Story of Tonight (Reprise)
- Wait for It
- Stay Alive
- Ten Duel Commandments
- Meet Me Inside
- That Would Be Enough
- Guns and Ships
- History Has Its Eyes on You
- Yorktown (The World Turned Upside Down)
- What Comes Next?
- Dear Theodosia
ช่วงที่ 3: เริ่มสร้างประเทศใหม่
- Non-Stop
- What’d I Miss
- Cabinet Battle #1: แรปแบทเทิลทางการเมืองระหว่างแฮมิลตันกับเจฟเฟอร์สัน
- Take a Break
- Say No to This
- The Room Where It Happens: ความทะเยอทะยานของเบอร์ที่ต้องการเป็นคนสำคัญในวงการเมือง
- Schuyler Defeated
- Cabinet Battle #2
- Washington on Your Side
- One Last Time
- I Know Him
ช่วงที่ 4: การร่วงหล่นของแฮมิลตัน
- The Adams Administration
- We Know
- Hurricane
- The Reynolds Pamphlet: เพลงที่เปิดเผยเรื่องชู้สาวอันอื้อฉาวของแฮมิลตัน
- Burn
ช่วงที่ 5: ช่วงชีวิตสุดท้ายและมรดกสู่คนรุ่นหลัง
- Blow Us All Away
- Stay Alive (Reprise)
- It’s Quiet Uptown
- The Election of 1800
- Your Obedient Servant
- Best of Wives and Best of Women
- The World Was Wide Enough: เหตุการณ์ดวลปืนระหว่างแฮมิลตันและเบอร์
- Who Lives, Who Dies, Who Tells Your Story: เพลงปิดท้ายสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจดจำประวัติศาสตร์
ขอหยิบมา 5 เพลงจากแต่ละช่วงเวลาที่ซิสชอบที่สุดมาเล่าเรื่องราวของแฮมิลตันให้ฟังเพิ่มเติมกันค่ะ
My Shot
“Hey yo, I’m just like my country
My Shot – Hamilton
I’m young, scrappy and hungry
And I’m not throwin’ away my shot”
เพลงโปรดของซิส ปลุกพลังมาก เนื้อเพลงเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยานของแฮมิลตัน ท่วงทำนองเพลงฮิปฮอป บวกกับการแร็ปที่เฉียบคม ขับเน้นอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีเนื้อหาหลักคือ
- โอกาส: แฮมิลตันตระหนักดีว่าโอกาสในชีวิตมีจำกัด เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้อพยพจากแคริบเบียน ไม่มีเส้นสายและเงินทอง แต่เขาใฝ่ฝันอยากมีบทบาทสำคัญบนโลกใบนี้ จึงไม่ต้องการปล่อย “โอกาส” หรือ “My Shot” ให้หลุดลอยไป
- การปฏิวัติ: แฮมิลตันมองเห็นศักยภาพของการปฏิวัติอเมริกา เป็นโอกาสที่จะสร้างอนาคตใหม่ เขาเต็มใจต่อสู้และทุ่มเทเพื่อสร้างประเทศอเมริกาให้ยิ่งใหญ่
- มรดกสู่รุ่นหลัง: แฮมิลตันต้องการสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ ทิ้งมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลังจดจำเขาในฐานะวีรบุรุษ ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติ
Satisfied
เพลงนี้ทำนองเพราะมาก! เป็นเพลงคู่ระหว่างแองเจลิกากับแฮมิลตัน เกี่ยวกับ:
- การพบกันครั้งแรก: แองเจลิกาและแฮมิลตันพบกันครั้งแรกในงานเลี้ยงและต่างรู้สึกพอใจ (Satisfied) กับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
- ความขัดแย้ง: แองเจลิการู้สึกสับสนเพราะเธอมีคู่หมั้นอยู่แล้ว และรู้ว่าเอไลซ่า น้องสาวของเธอก็หลงรักแฮมิลตัน
- การตัดสินใจ: แองเจลิกาตัดสินใจจับคู่แฮมิลตันกับเอไลซ่า และรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับแฮมิลตัน
Cabinet Battle #1
“Thomas. That was a real nice declaration. Welcome to the present, we’re running a real nation.”
Cabinet Battle #1 – HAMILTON
แรปแบทเทิลระหว่างแฮมิลตันกับเจฟเฟอร์สัน ช่วงที่เพิ่งก่อตั้งประเทศใหม่ๆ ในประเด็นนโยบายทางการเงินดังนี้
- การโต้เถียง: ระหว่างแฮมิลตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับเจฟเฟอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ โดยมีจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีเป็นผู้ควบคุมการอภิปราย
- แผนของแฮมิลตัน: แฮมิลตันเสนอแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาติ โดยให้รัฐบาลกลางรับภาระหนี้สินต่างๆ ที่สะสมไว้ในช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกา และจัดตั้งธนาคารกลางแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการหนี้สิน พิมพ์ธนบัตร และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ข้อโต้แย้งของเจฟเฟอร์สัน: เจฟเฟอร์สันไม่เห็นด้วยโดยกังวลเกี่ยวกับสิทธิของรัฐ ห่วงว่าธนาคารกลางจะทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมากเกินไป เบียดบังอำนาจของรัฐแต่ละรัฐ และเกรงว่าแผนของแฮมิลตันจะเอื้อประโยชน์ต่อการเงินของเขตตอนเหนือ มากกว่าภาคเกษตรกรรมทางตอนใต้
- บริบทที่กว้างขึ้น: การโต้เถียงครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองในช่วงแรกของอเมริกา แฮมิลตันสนับสนุนให้มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ในขณะที่เจฟเฟอร์สันสนับสนุนให้รัฐบาลกลางมีบทบาทจำกัด โดยอำนาจจะอยู่ที่รัฐต่างๆ
- ผลลัพธ์: เพลงไม่ได้แสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วแนวคิดของแฮมิลตันก็ได้รับการยอมรับในช่วงประธานาธิบดีวอชิงตัน นำไปสู่การก่อตั้งธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาแห่งแรก
The Reynolds Pamphlet
“Well he’s never gon’ be President now.”
The Reynolds Pamphlet – Hamilton
เรื่องชู้สาวอันอื้อฉาวของแฮมิลตันที่ถูกเปิดเผยผ่านจดหมายฉบับยาว 95 หน้า เขียนโดยเจมส์ เรย์โนลด์ส สามีของมาเรีย เรย์โนลด์ส ผู้หญิงที่แฮมิลตันมีสัมพันธ์ด้วย โดยแฮมิลตันเป็นคนให้ตีพิมพ์จดหมายเองเพื่อลบล้างข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น
- การเปิดเผย: เพลงเริ่มต้นด้วยการเปิดเผยจดหมายฉบับนี้ต่อสาธารณชน สร้างความตกตะลึงให้กับสังคม ชื่อเสียงของแฮมิลตัน และอนาคตทางการเมืองของเขาตกอยู่ในอันตราย
- คำสารภาพ: แฮมิลตันตัดสินใจยอมรับความผิดเรื่องมีชู้ เขายืนยันว่าความสัมพันธ์ของเขากับมาเรียเกิดขึ้นก่อนที่เธอจะแต่งงานกับเจมส์ เรย์โนลด์ส และเขาถูกเจมส์แบล็คเมล์
- ความเสียหาย: เรื่องอื้อฉาวนี้สร้างความเสียหายต่อแฮมิลตันอย่างมาก ชื่อเสียงของเขาถูกบั่นทอน ศัตรูของเขาใช้เรื่องนี้โจมตีเขา แฮมิลตันเสียโอกาสในการเป็นประธานาธิบดี
- การให้อภัย: แฮมิลตันพยายามขอโทษภรรยาของเขา ซึ่งเธอให้อภัยและยังคงอยู่ด้วยกันจนวันสุดท้ายของแฮมิลตัน แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
The World Was Wide Enough
“1 2 3 4 5 6 7 8 9 -he aims his pistol at the sky WAIT!!!”
The World Was Wide Enough – Hamilton
เหตุการณ์การดวลปืนระหว่างแฮมิลตันกับแอรอน เบอร์ ในปี 1804 เพลงนี้เริ่มต้นจากมุมมองของเบอร์ เขาเล่าถึงรายละเอียด 10 ประการของการดวลปืน เน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบของแฮมิลตัน และชี้ให้เห็นว่าการดวลปืนเกิดขึ้นใกล้กับจุดที่ลูกชายของแฮมิลตันถูกฆ่าตาย เบอร์ยังอธิบายว่าเขาจะไม่ยอมให้แฮมิลตันฆ่าเขา เพราะเขาไม่ต้องการให้ลูกสาวของเขาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า และเขาก็เบื่อหน่ายกับการรอคอยโอกาสของเขา
- ความตึงเครียด: ย้ำถึงความเกลียดชังและความขุ่นเคืองที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน การดวลปืนเป็นจุดสุดท้ายของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายปี
- มุมมองของเบอร์: เพลงนี้ให้มุมมองที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความคิดและแรงจูงใจของเบอร์ เขาไม่ได้เป็นเพียงวายร้าย แต่เป็นคนที่ซับซ้อนที่มีความกลัว ความโกรธ และความปรารถนาของตัวเอง
- ความตายของแฮมิลตัน: การตายของแฮมิลตันเป็นเหตุการณ์ที่โศกนาฏกรรม เพลงนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการตายของเขาที่มีต่อคนที่เขารัก และต่อประวัติศาสตร์อเมริกา
โรงละคร Sands Theatre สิงคโปร์
นอกจากละครเพลง Hamilton จะสุดยอดแล้ว โรงละคร Sands Theatre ก็บรรยากาศสุดยอดมาก! เดินทางง่าย ลง MRT Bayfront ปุ๊บถึงเลย บรรยากาศหรูหรา แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าถึงยาก แต่งตัวไปยังไงก็ได้
ในงานมีบูธขายของที่ระลึก บูธถ่ายรูป จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ไวน์ มีครบ เอาเข้าไปทานระหว่างชมละครเวทีได้ ต่างกับที่ไทยที่ห้ามเอาของกินและเครื่องดื่มเข้าไป
ซิสนั่งชั้น 3 ที่นั่ง N23 ตรงกลางพอดี แม้จะอยู่ไกล แต่มองเห็นเวทีชัด เห็นสีหน้า ท่าทางการแสดงของนักแสดง คนเยอะมาก! แม้จะเป็นวันธรรมดาและแสดงมาเกือบเดือนแล้วก็ตาม แต่เหมือนคนจะเต็มทั้งโรงเลยค่ะ บรรยากาศคึกคักสุดๆ ผู้ชมปรบมือ โห่ร้อง เชียร์ทุกเพลง
สรุปแล้วประทับใจทุกอย่าง อยากจะกลับไปดูอีกครั้ง!
🎟️ Hamilton the Musical
📅 เวลา: 19 เม.ย. – 9 มิ.ย. 2567
📍 สถานที่: โรงละคร Sands Theatre, Marina Bay Sands, สิงคโปร์
💲ราคา: 80-300 SGD ซื้อตั๋วได้ที่นี่
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากชิลๆ ดูที่บ้าน ก็สามารถรับชมบันทึกการแสดงได้ทาง Disney+ Hotstar เช่นกันค่ะ แต่จะเป็นนักแสดงและเพลงคนละเวอร์ชันกับที่แสดงสด