#ReadersGarden เล่มที่ 61
คุณมีเวลาในชีวิตเหลืออยู่อีกกี่สัปดาห์?
หากพวกเรามีชีวิตตามอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี ซิสจะเหลือเวลาอีก 52 ปี ฟังดูเหมือนเหลือเวลาอีกมาก เพราะกว่าจะผ่านไปแต่ละปีช่างนานเหลือเกิน
แต่หากคำนวณเป็นสัปดาห์ ซิสจะมีเวลาเหลือราว 2,700 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งทำให้เรารู้สึกตกใจไม่น้อยเพราะเวลาแต่ละสัปดาห์ผ่านไปไวมาก แค่กระพริบตาวันหยุดสุดสัปดาห์ก็จบลงแล้ว วันจันทร์อีกแล้วหรอ ดังนั้น 2,700 สัปดาห์ดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับรายการสิ่งที่ต้องทำ (to-do list), สิ่งที่อยากทำก่อนตาย (bucket list) และโปรเจกต์ยาวเหยียดในแพลนเนอร์เลย ยิ่งถ้าเรามีชีวิตไม่ถึง 80 ปี เวลาที่เหลือก็ยิ่งน้อยกว่านั้น
หนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals) ของโอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) จึงจะมาให้แนวทางการบริหารเวลาว่า เราจะใช้ชีวิตราว 4,000 สัปดาห์อย่างไรให้มีความหมายต่อตัวเองมากที่สุดและไม่เสียดายในภายหลัง
“เราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา”
– Oliver Burkeman
วิธีของเบิร์กแมนแตกต่างจากแนวทางบริหารเวลาดั้งเดิมที่ทำให้พวกเราคลั่งความผลิตภาพ (productivity) แบบไร้สติจนนำไปสู่ความหมดไฟได้ เช่น ทำงานเสร็จเร็วขึ้น → มีเวลามากขึ้น → มีงานเพิ่มขึ้นเพื่อเติมเวลาว่างให้เต็ม วนลูปซ้ำไปแบบนั้น อย่าใช้เวลาว่างอย่างเปล่าประโยชน์ ใช้เวลาทำสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นบอกให้ทำหรือทำตามสังคมโดยที่ตัวเองไม่ต้องการด้วยซ้ำ
กุญแจสำคัญในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือการตระหนักว่า เราทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีเวลาจำกัดบนโลก เราจำเป็นต้องใช้มันอย่างชาญฉลาดหากเราต้องการมีชีวิตที่สมบูรณ์ในแบบตัวเอง โดยซิสขอสรุปข้อคิดที่ได้ออกมาเป็น 4 ข้อดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ดื่มด่ำกับช่วงเวลาในปัจจุบัน
เราอยู่ในวัฒนธรรมที่หลงใหลในความผลิตภาพ ต้องใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต จงขยันเรียนเพื่อเตรียมทำงาน จงขยันทำงานเพื่อเก็บเงิน จงเก็บเงินเพื่อวันเกษียณ จงเตรียมพร้อมเพื่อวันข้างหน้าจนอาจหลงลืมชีวิตในวันนี้และนำไปสู่ความรู้สึกเหนื่อยหน่ายเกินจะรับไหว
ท้ายที่สุดแล้ว รายการสิ่งที่ต้องทำและการเตรียมพร้อมจะไม่มีวันหมดไป เมื่อเราทำสิ่งหนึ่งสำเร็จ จะมีเรื่องใหม่ๆ มาให้เราทำต่อเสมอ ดังนั้นเบิร์กแมนจึงแนะนำให้อยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น ยอมรับความเบื่อหน่าย ความล้มเหลวและความไม่สมบูรณ์แบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับอนาคตในฝันข้างหน้าเพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตคือปัจจุบันที่เรียงร้อยต่อกันมา
หากคุณมีสิ่งที่อยากทำและสามารถทำมันได้เลย ก็อย่าผัดผ่อนไปก่อน เช่น อยากส่งข้อความชื่นชมผลงานใครสักคน ก็เขียนส่งไปเลย ผู้รับอาจจะซาบซึ้งกับข้อความสรรเสริญที่เรียงร้อยมาอย่างดีมากกว่าอันที่เขียนขึ้นมาอย่างรีบๆ ก็จริง แต่แบบหลังก็ยังดีกว่าการผัดผ่อนไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ส่ง
หากคุณติดอยู่ในชีวิตประจำวันจำเจจนรู้สึกเบื่อหน่าย ให้ลองหากิจกรรมใหม่ๆ หรือแสวงหาความแปลกใหม่ในความจำเจโดยจดจ่อกับทุกช่วงเวลามากขึ้น เช่น หลังเลิกงาน แทนที่จะตรงกลับบ้านเลย ลองแวะเดินเล่นในสวนสาธารณะบ้าง, ระหว่างนั่งรถไปทำงาน แทนที่จะจดจ่ออยู่กับมือถือ ลองหันมองบรรยากาศรอบข้างบนท้องถนนแทน สังเกตสภาพอากาศ ผู้คนที่ผ่านไปมา เหตุการณ์บนท้องถนน คุณอาจจะได้เจอเรื่องดีๆ หรือได้ตกตระกอนอะไรบางอย่างก็ได้ เป็นต้น
2. จัดลำดับความสำคัญของชีวิต
ในโลกที่เรามีตัวเลือกและโอกาสมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เรามีรายการสิ่งที่อยากทำยาวไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน และเป็นเรื่องง่ายที่เราจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจด้วยสิ่งที่ไม่ได้สำคัญกับเป้าหมายของเราจริงๆ เช่น การไปต่อแถวซื้อของที่เราไม่ได้อยากได้ แต่ซื้อเพราะเทรนด์ของมันต้องมี, ไปเที่ยวที่ที่เราไม่ได้อยากไป แต่ไปเพราะเห็นเพื่อนๆ ถ่ายรูปลงไอจีกัน เป็นต้น มันดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้รวมกันแล้วกินเวลาในชีวิตเราไปไม่น้อยเลย
เบิร์กแมนจึงแนะนำให้เรายอมรับขีดจำกัดของชีวิต ยอมรับว่าเวลามีจำกัด ความสามารถของเราก็มีจำกัด เราไม่สามารถทำทุกสิ่งที่ต้องการได้ในเวลาชีวิตที่จำกัด ดังนั้นเราต้อง ‘เลือก’ โดยเลือกสิ่งที่ตรงต่อเป้าหมายชีวิตและค่านิยมที่ของเราก่อน เราจึงจะสามารถใช้เวลาและพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ดีขึ้น
เมื่อเลือกว่าจะทำอะไรแล้ว ให้จัดลำดับความสำคัญโดยจำกัดปริมาณงานที่ทำอยู่ หลายคนมักจะทำโปรเจกต์หลายอย่างไปพร้อมกัน เพื่อให้มันก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ เมื่อโปรเจกต์หนึ่งเริ่มยากหรือน่าเบื่อ เราจะผละจากมันและหันไปทำอีกโปรเจกต์ ทำแบบนี้เรื่อยๆ จนไม่มีอะไรเสร็จเลย
ดังนั้นให้จำกัดปริมาณงานที่ทำและทำในเวลาที่กำหนด ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้บีบบังคับให้คุณทำงานที่เริ่มไว้ให้เสร็จทั้งหมด แต่เพื่อขจัดนิสัยแย่ๆ ที่ชอบทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งเบิร์กแมนแนะนำให้จำกัดปริมาณงานครั้งละ 2 โปรเจกต์ หนึ่งโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับงานและอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ไม่เกี่ยวกับงาน เช่น ภารกิจของเขาคือ การเขียนหนังสือและการย้ายบ้าน ซึ่งเขาจะทำภารกิจให้เสร็จก่อนจะริเริ่มโปรเจกต์ใหม่ เป็นต้น
3. ปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้ตัวเอง
สังคมปัจจุบันให้คุณค่ากับความสำเร็จมากเกินไป จนทำให้เรารู้สึกไม่คู่ควรและวิตกกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของชีวิต เช่น คอนเทนต์ประเภทอายุ 30 ควรมีเงินเก็บและมีทรัพย์สินตามนี้ หรือการไปงานรวมญาติหรืองานเลี้ยงรุ่นแล้วทุกคนตัดสินกันจากความสำเร็จ เป็นต้น นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราต้องดิ้นรนไปตามวัฒนธรรมแห่งความผลิตภาพเพื่อผลักดันตัวเอง จนหมดเวลาไปกับการสร้างความสำเร็จให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม
เบิร์กแมนแนะนำให้ปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้ตัวเอง วิธีนี้จะช่วยให้เราไม่ไหลไปตามมาตรฐานของสังคมอย่างไร้สติ จนหมดเวลาไปกับสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริงๆ เช่น เมื่อคนรอบข้างตัดสินคุณว่า “อายุเท่านี้แล้ว แต่ทำไมถึงทำงานตำแหน่งแค่นี้เอง” หากคุณมีทัศนคติของตัวเอง รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรและเป้าหมายชีวิตคืออะไร ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องสนใจกับคำพูดเหล่านี้เลย แต่หากคุณยังไม่ชัดเจนต่อทัศนคติตัวเอง ก็มีโอกาสที่จะหวั่นไหวและรู้สึกแย่ไปกับเสียงตัดสินเหล่านี้
ดังนั้นเมื่อเราตระหนักได้ว่าเรามีเวลาจำกัดบนโลกใบนี้ เราสามารถมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่สำคัญจริงๆ และปล่อยวางสิ่งที่ไม่สำคัญลงได้
4. ยอมรับในความไม่แน่นอนและเหนือการควบคุม
เราพยายามบริหารเวลาเพื่อให้รู้สึกว่า ‘ฉันสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้’ แต่ไม่ว่าเราจะวางแผนมาอย่างดีแค่ไหน ชีวิตคือความไม่แน่นอน เรื่องเซอร์ไพรส์เหนือความควบคุมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นอย่ายึดติดอยู่กับแผนการและการควบคุมให้ชีวิตเป็นไปตามต้องการจนนำไปสู่ความวิตกกังวลเลย
เบิร์กแมนแนะนำให้เรายอมรับในความไม่แน่นอนของชีวิต ปลูกฝังความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นและเปิดใจกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ เต็มใจเสี่ยงและลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อขยายขอบเขตความเป็นได้ในชีวิตและมีโอกาสสมหวังมากขึ้น
หากเราเตรียมใจรับสิ่งใหม่ๆ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ชีวิตไม่เป็นไปตามใจ หรือเจอคนที่มีตรรกะแตกต่างจากเรา เราจะสามารถยอมรับมันได้ง่ายขึ้น ไม่เสียเวลาและสุขภาพจิตไปกับสิ่งเหล่านี้
ซื้อหนังสือ: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
‘ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์’ เป็นหนังสือที่ใช้เวลาอ่านค่อนข้างนานเลยค่ะ หนังสือแค่ 200 กว่าหน้าแต่ต้องใช้เวลาย่อยและตกตระกอนทีละบท กระตุ้นให้เราคิดตามอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่อยากทำมากมายในเวลาที่จำกัด ซึ่งวิธีบริหารเวลาของเบิร์กแมนจะช่วยให้เราใช้เวลาที่มีอยู่กับเรื่องที่เราใส่ใจจริงๆ ค่ะ